บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ (๑) ศึกษาการส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคามเขต ๒ (๒) เปรียบเทียบการส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคามเขต ๒ จำแนกตามตำแหน่ง ระดับการศึกษา และประสบการณ์ทำงาน และ (๓) ศึกษาแนวทางในการส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษามหาสารคามเขต ๒ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๑๓๓ คน และครูผู้สอน จำนวน ๓๑๑ คน รวมทั้งสิ้น จำนวน ๔๔๔ คน และกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน ๙ คนและครูผู้สอน จำนวน ๑๒ คน รวมจำนวน ๒๑ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามและแบบสัมภาษณ์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย,ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน,การทดสอบสมมุติฐานด้วยการทดสอบค่าที, (t–test,แบบ Independent Samples) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (F – test แบบ One-way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีการของเชฟเฟ่ (Scheffe’) และวิเคราะห์เชิงพรรณนา (Descriptive Analysis)
ผลการวิจัย พบว่า
การส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารสถานศึกษา โดยภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยด้านที่มีการปฏิบัติสูงสุด คือ การส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านสมานัตตตา รองลงมาคือ การส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านอัตถจริยา และการส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านปิยวาจา ส่วนด้านที่มีการปฏิบัติต่ำสุด คือการส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านทาน
ผลการเปรียบเทียบการส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารสถานศึกษา จำแนกตามตำแหน่ง โดยภาพรวม มีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ โดยผู้บริหารมีการปฏิบัติสูงกว่าครูผู้สอน เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา โดยภาพรวมมีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ เมื่อจำแนกตามประสบการณ์ในการทำงาน โดยภาพรวมมีการปฏิบัติแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
แนวทางในการพัฒนาพัฒนาการส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมตามหลักสังคหวัตถุ ๔ ของผู้บริหารสถานศึกษา การส่งเสริมพฤติกรรมทางจริยธรรมด้านทาน บุคลากรทางการศึกษาควรมีส่วนร่วมในการจัดหาวัสดุอุปกรณ์การเรียนแก่ผู้เรียน เพื่อเป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนที่ยั่งยืน บุคลากรทางการศึกษาบางท่านควรเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้เรียน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ควรใช้คำพูดให้เหมาะสมแก่ผู้เรียน สถานศึกษาควรจัดให้มีศูนย์หรือคลีนิคปรับพฤติกรรม เพื่อแก้ไขปัญหาแก่ผู้เรียน เช่นปัญหาเรื่องยาเสพติด การติดเกมส์ ปัญหาเกี่ยวกับเด็กหนีเรียน และควรจัดให้มีการประชุมทุกเดือน และเปิดโอกาสให้บุคลากรแสดงความคิดเห็นร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาต่างๆในสถานศึกษา
ดาวน์โหลด |