บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาการประนีประนอมของ
ผู้ประนีประนอมประจำศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ๒. เพื่อศึกษาหลักสัมมาวาจาและการใช้สัมมาวาจาของ
ผู้ประนีประนอมประจำศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ ๓. เพื่อศึกษาคุณค่าการใช้สัมมาวาจาของ
ผู้ประนีประนอมประจำศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ การดำเนินการวิจัยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ
ผลการวิจัยพบว่า
๑. การประนีประนอมข้อพิพาทมีขั้นตอนที่จะต้องมีการนัดไกล่เกลี่ย การค้นหาประเด็นข้อพิพาท การตรวจสอบประเด็นข้อขัดแย้ง การวางกรอบความต้องการ การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ เป็นต้น ผู้ประนีประนอมประจำศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ทำหน้าที่เป็นคนกลางช่วยประสานความเข้าใจ และช่วยหาทางออกให้แก่คู่พิพาท ช่วยแสวงหาข้อตกลงโดยการใช้วาจาหรือคำพูด เพื่อหาทางออกร่วมกัน ผู้ประนีประนอมต้องมีเมตตาปราณี มีวจีที่ไพเราะ พูดที่ให้เกียรติเพื่อทำให้เกิดความเป็นกันเอง วางตนเสมอภาพ มีการยืดหยุ่น
๒. หลักสัมมาวาจาเป็นข้อควรแก่การปฏิบัติ คือ การพูดความจริง ไม่พูดบิดเบือน พูดวาจาไพเราะ สุภาพ ประกอบด้วยสารัตถะคือเป็นประโยชน์ และพูดด้วยปรารถนาดี ทั้งนี้การใช้หลักสัมมาวาจาจะต้องพูดชี้แจงให้เห็นชัด พูดชวนให้อยากรับเอาไปปฏิบัติ พูดเร้าใจให้อาจหาญ และพูดปลอบชโลมใจให้สดชื่นร่าเริง
๓. การนำหลักสัมมาวาจาไปใช้เพื่อการประนีประนอมข้อพิพาทประจำศาลจังหวัดอุตรดิตถ์ได้สะท้อนลักษณะผู้ประนีประนอม ได้แก่ การสร้างประโยชน์สุขต่อสังคม การเสริมสร้างมนุษยสัมพันธ์ ท่าทีเปิดใจยอมรับผู้อื่น และนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริง
หลักสัมมาวาจามีคุณค่าและความสำคัญในฐานะเป็นเงื่อนไขหรือเครื่องมือของผู้ประนีประนอมที่ช่วยทำให้การทำหน้าที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งส่งผลให้เกิดการพูดแบบเปิดใจ ทั้งยังคงรักษาสัมพันธภาพที่ดี สร้างความพอใจและความสงบสุขให้แก่ประชาชนและสังคม
ดาวน์โหลด
|