บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามหลักทิศ ๖ ๒) เพื่อศึกษาการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดยุวากรศุภภัณฑ์ ๓) เพื่อศึกษาการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดยุวากรศุภภัณฑ์ตามหลักทิศ ๖ การดำเนินการวิจัยได้ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research)
ประเด็นที่ ๑ พบว่าการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างตามหลักทิศ ๖ คือ การปฏิสัมพันธ์ การส่งเสริมสนับสนุน และการทำหน้าที่ต่อกันเพื่อการเรียนรู้ เข้าใจและอยู่ร่วมกันได้ดี หลักการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับหลักทิศ ๖ ที่ว่าด้วยนายจ้างสงเคราะห์ลูกจ้าง ๕ อย่างคือ
๑) จัดการงานให้ทำตามสมควรแก่กำลัง ๒) ให้อาหารและค่าจ้าง ๓) ดูแลรักษายามเจ็บป่วย ๔) ให้อาหารที่มีรสแปลก ๕) ให้หยุดตามโอกาส ส่วนลูกจ้างพึงปฏิบัติต่อนายจ้าง ๕ อย่างคือ ๑) ขึ้นทำการงานก่อนนาย ๒) เลิกการงานทีหลังนาย ๓) ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๔) ทำการงานให้ดีขึ้น ๕) นำคุณของนายไปสรรเสริญ
ประเด็นที่ ๒ พบว่าการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดยุวากรศุภภัณฑ์ ซึ่งประสบความสำเร็จได้เพราะการร่วมมือกันทำงานระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง โดยทางห้างฯ ได้เล็งเห็นว่าลูกจ้างเป็นส่วนหนึ่งของนายจ้าง ไม่อาจแบ่งแยกจากกันได้ ทุกคนสำคัญหมด มีความเป็นหนึ่งเดียวทั้งนายจ้างลูกจ้าง มิใช่สถานะแบบแยกส่วน ดังนั้น จึงยึดมั่นในการปฏิบัติตาม
กฎ กติกา ระเบียบ หรือข้อบังคับด้วยการจัดสวัสดิการให้แก่ลูกจ้างตามกฎหมาย ดูแลรักษายามเจ็บป่วย จัดเลี้ยงและให้หยุดงานตามโอกาส
ประเด็นที่ ๓ พบว่า แนวทางการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนฯ มีความสอดคล้องกับหลักการทางพระพุทธศาสนา กล่าวคือ ห้างหุ้นส่วนได้มีการมุ่งเน้นการแบ่งปันผลกำไร สนับสนุน การศึกษา ส่งเสริมการดูแลสุขภาพอนามัยและความปลอดภัย พร้อมทั้งได้ให้ความช่วยเหลือยามเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ เกษียณอายุ และไร้สมรรถภาพ เป็นต้น ด้วยเหตุนี้นายจ้างและลูกจ้างจึงได้ปฏิบัติงานร่วมกันได้อย่างสันติสุขด้วยดีตลอดมา
ดาวน์โหลด
|