บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิด และหลักการมีส่วนร่วมในการจัดการความขัดแย้ง ตามแนวทางพระพุทธศาสนา(๒) เพื่อวิเคราะห์การมีส่วนร่วมเชิงพุทธ ในการสร้างความสามัคคีของชุมชนวัดน้อยนางหงษ์ จังหวัดสิงห์บุรี (๓) เพื่อประยุกต์แนวคิดและหลักการมีส่วนร่วมเชิงพุทธในการจัดการความขัดแย้ง มุ่งเน้นการสร้างความสามัคคีของชุมชนวัดน้อยนางหงษ์ จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งเป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ได้มีการลงภาคสนามด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตการณ์ และการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะกับผู้เกี่ยวข้องในชุมชนวัดน้อยนางหงษ์
ผลการศึกษาพบว่า แนวคิดและหลักการมีส่วนร่วม ทั้งแนวทางตะวันตก แนวทางตะวันออก และแนวทางพระพุทธศาสนา ชี้ให้เห็นว่า แนวคิดของตะวันตก และแนวคิดของตะวันออกมีส่วนที่เห็นสอดคล้องกัน คือ หลักการมีส่วนร่วมนั้นควรที่จะให้ประชาชนได้เข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของโครงการ มองเห็นเป้าหมายที่ได้จากโครงการในทิศทางเดียวกัน และมีส่วนในประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการทำโครงการ โดยที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมตั้งแต่เริ่มโครงการ ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติการ ร่วมแก้ไขปัญหา เลือกแนวทางการพัฒนา ร่วมติดตามประเมินผล ส่วนหลักการตามแนวคิด
ทางพระพุทธศาสนานั้น พระพุทธเจ้ามุ่งเน้นให้เริ่มสร้างการมีส่วนร่วมมาจากพื้นฐานของตนเองก่อน แล้วพัฒนาไปสู่การปกครองของคนในสังคม
ผลการศึกษาสภาพปัญหาความขัดแย้ง และความสามัคคีในชุมชนวัดน้อยนางหงษ์ จังหวัดสิงห์บุรี พบว่า เหตุปัจจัยภายใน คือ “ตัณหา ทิฏฐิ มานะ” หรือ อยากได้ อยากใหญ่ ใจแคบ” เป็นเหตุให้เกิดปัญหาด้านความขัดแย้ง ในขณะเดียวกัน เหตุปัจจัยภายนอก ได้แก่ การปกปิดข้อมูลข่าวสาร การได้รับโอกาสอย่างไม่เท่าเทียมกัน และการแบ่งฝ่ายทางความคิด เป็นต้นเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ชุมชนขาดความสามัคคีและมีแนวโน้มที่จะขยายความรุนแรงมากขึ้น
ผลการศึกษาการประยุกต์แนวคิด และหลักการมีส่วนร่วมเชิงพุทธในการจัดการความขัดแย้ง มุ่งเน้นการสร้างความสามัคคีชุมชน พบว่าผู้นำชุมชนในยุคปัจจุบันขาดคุณธรรมที่พึงมีอันเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวศรัทธาของผู้คนในชุมชน เพื่อให้ผู้นำชุมชนกลับมามีบทบาทได้เทียบเท่ากับผู้นำชุมชนในอดีต จึงต้องนำหลักธรรมที่ผู้ในอดีตมีมาปรับประยุกต์ให้ผู้นำในปัจจุบันเป็นผู้ที่มีบทบาท “มีความเห็นที่ถูกต้อง คือ มีสัมมาทิฏฐิเหมือนเป็นญาติสนิท คือ ประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมและ ผูกมิตรไมตรีได้ คือ ครองตนด้วยสังคหวัตถุธรรม” ซึ่งผู้วิจัยนำเสนอเป็นรูปแบบบทบาทของผู้นำสร้างการมีส่วนร่วมเชิงพุทธ มาปรับประยุกต์ เพื่อให้เกิด “มัชฌิมาปฏิปทา” คือ แนวคิดแบบธรรม ในลักษณะของความเป็นคู่ ซึ่งเป็นหน่วยความคิดที่สามารถเชื่อมโยงจุดเด่น หรือมองหาจุดรวมของแนวคิดต่างๆ ให้อยู่ร่วมกันได้ และทำงานร่วมกันได้อย่างสอดประสาน ซึ่งเรียกว่า “แนวความคิดที่สาม” เป็นหลักการที่อยู่เหนือข้อปฏิบัติที่มีอยู่เดิมซึ่งกำลังเกิดปัญหากันอยู่
ผู้นำชุมชนต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่าง “วิธีการ (กระบวนการมีส่วนร่วม) และ เป้าหมาย (เกิดความสามัคคี)”
ในภาคประชาชนนั้น การนำหลักธรรมที่สามารถ ช่วยประสานรอยร้าว สร้างความเห็น ความเข้าใจที่ถูกต้อง อันมีส่วนช่วยสำคัญในการขจัด “ความไม่ศรัทธา ความหวาดระแวง และความไม่เปิดใจกว้าง” ก็คือ การสร้าง “ความเห็นที่ถูกร่วมกัน คิดพูดทำเพื่อส่วนร่วม และเปิดใจเป็นกลาง รับฟังด้วยปัญญา”เพื่อให้เกิดความเข้าใจ และรับรู้ร่วมกันตั้งแต่ต้น จึงต้องมีการนำกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงพุทธ มาเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนในส่วนของประชาชน แบ่งเป็น ๒ รูปแบบ คือ (๑) รูปแบบการมีส่วนร่วมเชิงพุทธ แบบขั้นบันได(R5 Steps) และ
(๒) รูปแบบกระบวนการมีส่วนร่วมเชิงพุทธ (Noble Eightfold Cycle)ซึ่งทั้งสองรูปแบบนี้ประกอบด้วยการประสานหลัก “มรรคมีองค์ ๘” เป็นหลักการสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการมีส่วนร่วมเชิงพุทธแบบยั่งยืน
ดาวน์โหลด
|