หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสมุห์นพดล ปิยธมฺโม (เขาแก้ว)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๐ ครั้ง
การประยุกต์ใช้สมชีวิธรรมกับการครองเรือนในสังคมไทยปัจจุบัน
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสมุห์นพดล ปิยธมฺโม (เขาแก้ว) ข้อมูลวันที่ : ๒๘/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  ชัยชาญ ศรีหานู
  พระเทพสุวรรณเมธี
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2561
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ    

วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ๑)เพื่อศึกษาหลักสมชีวิธรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาสภาพและปัญหาการครองเรือนในสังคมไทย๓) เพื่อศึกษาการประยุกต์ใช้หลักสมชีวิธรรมกับการครองเรือนในสังคมไทยปัจจุบันเป็นการวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์สำคัญของพระพุทธศาสนาเถรวาทคือ พระไตรปิฎก อรรถกถา และเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาวิเคราะห์เรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา จากนั้นนำไปให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบความถูกต้อง

ผลของการวิจัยพบว่าสมชีวิธรรมหมายถึงหลักธรรมสำหรับดำเนินชีวิตสม่ำเสมอ หรือจริยธรรมที่ทำให้สามีภรรยาอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ประกอบด้วยหัวข้อธรรม ๔ ประการคือ สมสัทธามีศรัทธาเสมอกันสมสีลามีศีลเสมอกัน สมจาคามีจาคะเสมอกัน และสมปัญญามีปัญญาเสมอกัน หลักธรรมทั้ง ๔ ข้อนี้เป็นหลักในการดำเนินชีวิตกับผู้อื่นและมีเป้าหมายร่วมกันที่เหมาะสมไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใด ซึ่งจะนำความสงบร่มเย็นและความเจริญรุ่งเรืองมาสู่การอยู่ร่วมกัน

สภาพและปัญหาการครองเรือนในสังคมไทยพบว่า สภาพการครองเรือนของสังคมไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะที่ไม่แน่นอนเนื่องมาจากการพัฒนาและทิศทางของสังคมสมัยใหม่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ความยั่งยืนของครอบครัวแต่เน้นไปที่ความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจและรัฐขาดนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับความมั่นคงของการครองเรือน ทำให้การครองเรือนของสมาชิกในครอบครัวเกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจสุขภาพจิต ปัจจัยพื้นฐานขาดแคลน เป็นต้นเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งหรือทะเลาะวิวาท การหย่าร้าง จนเกิดปัญหากับเด็กซึ่งเป็นเยาวชนที่ต้องเติบโตขึ้นมาในภาวะที่ขาดแคลนและมีปัญหาทุกอย่างซึ่งเป็นภาระและอุปสรรคของการพัฒนาสังคมมนุษย์ให้เจริญ

การประยุกต์ใช้หลักสมชีวิธรรมในการครองเรือนคือ สามีภรรยาผู้ต้องการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขและยั่งยืนจะต้องนำหลักสมชีวิธรรมมาประยุกต์ใช้ร่วมกันคือ ศรัทธา ศีล จาคะ และปัญญา ศรัทธาในสิ่งถูกต้องเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจและกำลังใจในการดำเนินชีวิต ศีลเป็นส่วนป้องกันความชั่วร้ายและปัญหาหนักที่จะเกิด จาคะการเสียสละ มุ่งประโยชน์ที่เป็นธรรม ทำให้เกิดการเอื้อเฟื้อ จิตอาสา ส่วนปัญญาเป็นกุญแจสำคัญที่ต้องพัฒนาไปร่วมกัน ปัญญาต้องตั้งอยู่บนหลักสัจธรรมและความมีเหตุผลเสมอ โดยนำไปใช้ในเป็นประจำทุกวัน ทุกสัปดาห์ ทุกเดือน และทุกปี

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕