บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ ๑) ศึกษาหลักสติในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ๒) ศึกษาการถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต ๓) ประยุกต์ใช้สติเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต เป็นงานวิจัยเชิงเอกสารโดยการรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา วิทยานิพนธ์ เอกสาร หนังสือ และแหล่งข้อมูลต่าง ๆ เช่น ข่าวสาร อินเทอร์เน็ต ผลการวิจัยพบว่า
สติ หมายถึง ความระลึกได้ เป็นการระลึกได้ก่อนจะคิด พูด หรือทำสิ่งใด สามารถควบคุมพฤติกรรมทางกาย วาจา และใจ ให้ดำเนินไปในทางที่ถูกต้อง สติจะทำให้มีปัญญาพิจารณาก่อนจะทำสิ่งใด สติก็คือความไม่ประมาท ซึ่งเป็นหลักธรรมสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนา และการเจริญสติยังเป็นบุพนิมิตที่ทำให้อริยมรรคเกิดขึ้นได้ สัมปชัญญะ คือความรู้ตัว คือรู้ว่าสิ่งที่คิด พูด ทำนั้นเป็นกุศลหรืออกุศล โดยใช้ปัญญาพิจารณาอย่างรอบคอบ ทำให้เกิดการยับยั้งชั่งใจ และเป็นหลักธรรมที่มีความสัมพันธ์กับสติ
ด้านการหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต พบว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อทรัพย์สินของผู้เสียหายโดยมีรูปแบบการหลอกลวง เช่น การประมูลสินค้าทางอินเทอร์เน็ตโดยหลอกลวง การใช้บัตรเครดิตโดยไม่ได้รับอนุญาต การเข้าควบคุมการใช้โมเดมบุคคลอื่น การหลอกลวงให้ใช้บริการเกี่ยวกับเว็บไซต์ การหลอกลวงโดยใช้การตลาดหรือการขายแบบตรง ส่วนวิธีการหลอกลวง เช่น หลอกลวงด้วยการขอแต่งงาน การแอบอ้างจากชาวแอฟริกันตะวันตกขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ชักชวนดำเนินธุรกิจนำเข้า-ส่งออกสินค้า คอลเซ็นเตอร์ ถูกโกงซื้อของผ่านเน็ต โอนเงินไม่ได้รับสินค้า แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ศาลหลอกขอข้อมูลส่วนตัว ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งทานด้านชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน และประโยชน์อื่นๆ
ด้านวิธีการใช้สติเพื่อป้องกันการถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต พบว่า ควรมีวิธีการ โดยยึดหลักการดังนี้ คือ หลักกาลามสูตร หลักโยนิโสมนสิการ หลักความสมเหตุสมผล หลักการแสวงหาข้อเท็จจริง และหลักอุเบกขา ส่วนแนวทางการประยุกต์ใช้สติเพื่อป้องกันความเสียหาย
จากการถูกหลอกลวงทางอินเทอร์เน็ตควรมีรูปแบบดังนี้คือ ควรส่งเสริมการเจริญสติตามหลักพระพุทธศาสนา การประยุกต์โดยการปลูกฝังสติให้แก่เด็กและเยาวชน การประยุกต์ใช้สติโดยการสวดมนต์ และการประยุกต์ใช้สติเพื่อการตัดสินใจ
ดาวน์โหลด
|