บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาหลักธรรมในธาตุวิภังคสูตร และเพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในธาตุวิภังคสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา และตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษา พบว่า
ธาตุวิภังคสูตร พระผู้มีพระภาคทรงแสดงแก่ท่านปุกกุสาติ ผู้ต้องการออกบวชอุทิศเจาะจงพระองค์ แต่ไม่รู้จักและไม่เคยพบเห็น จึงเป็นเหตุเกิดของพระสูตรนี้ ส่วนพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแก่ท่านปุกกุสาติ ขณะที่ท่านพักอยู่ที่ศาลาของช่างหม้อชื่อภัคควะ เขตกรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดท่าน
ปุกกุสาติให้เข้าถึงธรรมตามอุปนิสัยของท่าน พระองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟังเพื่อให้เห็นว่าในสัตว์บุคคลทุก ๆ คนประกอบขึ้นด้วยอะไร เป็นอย่างไร และจะพึงประกอบด้วยธรรมอะไร จึงจะบรรลุถึงความสิ้นทุกข์ได้ พระองค์ทรงแสดงอุทเทสว่า บุรุษผู้มีธาตุ ๖ มีผัสสายตนะ ๖ มีมโนปวิจาร ๑๘
มีอธิษฐานธรรม ๔ บัณฑิตเรียกว่า มุนีผู้สงบ
หลักธรรมที่เกี่ยวข้องในธาตุวิภังคสูตรนี้สามารถนำมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามที่พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่ท่านปุกกุสาตินั้น ธาตุวิภังคสูตรกล่าวถึงการพิจารณาธาตุ ๖
มีปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโช วาโยธาตุ อากาสธาตุ วิญญาธาตุ ผัสสายตนะ ๖ มีผัสสายตนะคือ ตา หู จมูก ลิ้น การ และใจ มโนปวิจาร ๑๘ มีการเกิดเวทนาอันเกิดจากผัสสายตนะทั้ง ๖ ช่องทางอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมปรากฏเวทนา ๓ ประการ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อุเบกขาเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยความเป็นปัจจัยซึ่งกันและกันและอธิษฐานธรรม ๔ มีอธิษฐานธรรม คือมีปัญญา สัจจะ จาคะ อุปสมะ ซึ่งในอรรถกถากล่าวถึงการพิจารณาธาตุอีกนัยหนึ่งว่า ผู้ปรารถนาจะทำกรรมในมนสิการธาตุนี้แล้วเริ่มวิปัสสนาเพื่อบรรลุพระอรหัตอันเป็นประโยชน์สูงสุด พึงชำระปาริสุทธิศีล ๔
ให้บริสุทธิ์ เพราะว่าการเจริญกรรมฐานย่อมสำเร็จแก่บุคคลผู้มีศีล พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธาตุในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาไว้ ๖ ประการ โดยพิจารณาในส่วนของธาตุ ๔ เบื้องต้นได้แก่ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ มีวิธีปฏิบัติปรากฏในธาตุมนสิการว่า ภิกษุพิจารณาเห็นกายนี้ตามที่ตั้งอยู่ตามที่ดำรงโดยความเป็นธาตุว่า ในกายนี้มีธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลมอยู่ ส่วนอากาศธาตุและวิญญาณธาตุนั้นปรากฏในพระอภิธรรมปิฎก และผู้ประกอบด้วยอธิษฐานธรรมคือปัญญาอันยอดเยี่ยมนี้ เพราะว่าปัญญาอันประเสริฐ ยอดเยี่ยมนี้คือความรู้ในธรรมเป็นที่สิ้นทุกข์ทั้งปวง
ดาวน์โหลด
|