บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาเนื้อหาหลักธรรมในวิมุตตายตนสูตร และเพื่อศึกษามูลเหตุแห่งการบรรลุธรรมที่ปรากฏในวิมุตตายตนสูตร โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ตลอดจนตำราทางวิชาการ และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวมนำมาเรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา แล้วตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า วิมุตตายนสูตรเป็นพระสูตรที่กล่าวถึงเหตุแห่งความหลุดพ้นจากกิเลส ๕ ประการ คือ ๑) บรรลุธรรมขณะฟังธรรม ๒) บรรลุธรรมขณะแสดงธรรม ๓) บรรลุธรรมขณะสาธยายธรรม ๔) บรรลุธรรมขณะพิจารณาธรรม ๕) บรรลุธรรมเพราะเจริญสมาธินิมิต การหลุดพ้นแต่ละประเภทนั้น ผู้ปฏิบัติต้องมีคุณสมบัติคือ เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีจิตตั้งมั่น อุทิศกายใจต่อการปฏิบัติ ซึ่งมีหลักธรรมที่มีสำคัญ ได้แก่ ปีติสัมโพชฌงค์ และอารมณ์กรรมฐานแห่งสมถภาวนา ๓๘ ประการ เว้นอากาสกสิณ และอาโลกกสิณ ปีติสัมโพชฌงค์เองก็มีเหตุที่เกิดจากอารมณ์กรรมฐานส่วนหนึ่งด้วย โดยเมื่อฟังธรรม แสดงธรรม สาธยายธรรม ตรึกตรองธรรม หรือมนสิการนิมิตจากสมาธิที่ตนศึกษามาดีแล้ว ทำให้เกิดปีติ และปราโมทย์ขึ้นกับใจ ทำให้กายสงบเกิดความสุข จิตตั้งมั่น เป็นเหตุให้บรรลุธรรมถึงความหลุดพ้นจากกิเลสได้
ผู้ฟังธรรมต้องทำจิตให้ปราศจากอกุศลธรรม มีความตั้งมั่นต่อการฟังจึงจะเกิดเกิดปีติได้
และปีตินั้นเป็นเครื่องอาศัยในการเจริญวิปัสสนาต่อจนกระทั่งได้บรรลุธรรม ส่วนการทำสมาธินิมิตที่เคยศึกษา หรือเคยปฏิบัติสมาธินิมิตมาก่อนนั้น ในอารมณ์กรรมฐานที่เป็นอุปจารสมาธิ และอัปปนาสมาธิที่องค์ฌานยังมีปีติปรากฏ ก็สามารถพิจารณาปีติตามหลักโพชฌงค์ ๗ ในสติปัฏฐาน ๔ ได้ โดยผู้ที่มีสมาธิถึงฌานพึงออกจากฌาน และพิจารณาฌานจิตเป็นอรูปกับหทัยวัตถุเป็นรูปก็จะสามารถเจริญวิปัสสนาภาวนาจนกระทั่งบรรลุธรรมได้
ดาวน์โหลด
|