บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาสุญญตาในจูฬสุญญตสูตรและเพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาด้วยสุญญตาในจูฬสุญญตสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์
พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุปเรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาสรุปได้ดังนี้
หลักธรรมในจูฬสุญญตสูตร เป็นพระสูตรที่ว่าด้วยสุญญตาและแสดงถึงหลักธรรมแนวทางในการปฏิบัติ และได้สรุปความหมายเกี่ยวกับสุญญตาไว้ ๔ นัย คือ ๑) หมายถึงสภาวะที่ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา หรือสภาวะที่ขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา ๒) หมายถึงสภาวะที่ว่างจากกิเลส มีราคะ โทสะ โมหะ เป็นต้น หรือสภาวะที่ว่างจากสังขารทั้งหลาย ตามนัยนี้ สุญญตา ได้แก่ นิพพาน
๓) หมายถึงโลกุตตรมรรค ด้วยเหตุผล ๓ ประการ คือ เพราะว่างจากการพิจารณาเห็นขันธ์ ๕
เป็นอัตตา เพราะว่างจากกิเลสและเพราะมีความว่างคือนิพพานเป็นอารมณ์ ๔) หมายถึงความว่างที่เกิดจากความสำคัญหมายหรือใส่ใจคำนึงถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ จนว่างจากสิ่งอื่น
การปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาด้วยสุญญตาในจูฬสุญญตสูตรนั้น มีวิธีการปฏิบัติเป็นแบบ
การเจริญวิปัสสนาโดยมีสมถะนำหน้าและมีแนวทางในการปฏิบัติตามหลักมหาสติปัฏฐาน ว่าด้วย
หมวดขันธ์ ๕ และหมวดอายตนะ อยู่ในธัมมานุปัสสนา มีการปฏิบัติตามลำดับจากหยาบไปสู่ความละเอียดมีทั้งหมด ๘ ลำดับ คือ ๑) อรัญญสัญญา ๒) ปฐวีสัญญา ๓) ความสำคัญว่าอากาสานัญจายตนะ ๔) ความสำคัญว่าวิญญานัญจายตนะ ๕) ความสำคัญว่าอากิญจัญญายตนะ ๖) ความสำคัญว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ๗) ความสำคัญว่าเจโตสมาธิอันไม่มีนิมิต ๘) ให้พิจารณาเห็นความไม่เที่ยงแห่งเจโตสมาธิ และเจริญวิปัสสนาพิจารณาเห็นขันธ์ ๕ และอายตนะเป็นของไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่า
จนจิตหลุดพ้นจากกามาสวะ ภวาสวะและอวิชชาสวะ เป็นการเข้าสู่ความว่างตามความเป็นจริง
ไม่คลาดเคลื่อนและบริสุทธิ์ และผลในการปฏิบัติในจูฬสุญญตสูตร คือย่อมเป็นผู้เข้าถึงสุคติในรูปภพและอรูปภพ ส่วนผู้ที่เจริญวิปัสสนาจนสามารถละอาสวะจนหมดสิ้นได้ย่อมเป็นผู้เข้าถึงมรรค ผล นิพพาน
ดาวน์โหลด
|