บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ อย่าง คือ เพื่อศึกษาการสั่งสมบารมีและประวัติของพระมหากัสสปเถระกับพระอานนทเถระ และเพื่อเปรียบเทียบการบรรลุธรรมของพระมหากัสสปเถระกับพระอานนทเถระ โดยการศึกษาข้อมูลจาก คัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา หนังสือทั่วไป เอกสาร ตำรา ผลงานทาง วิชาการ และรายงานการวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วนำมาเรียบเรียง บรรยายเชิงพรรณนา นำเสนอ ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
การบรรลุธรรม คือ การรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ได้แก่ จิตมีสภาพดับกิเลส ตัณหาและอุปาทานที่บรรลุถึงโลกุตตรธรรม ๙ คือ มรรค ๔ ผล ๔ และนิพพาน ๑ สำเร็จเป็นพระอริยบุคคลในแต่ละระดับต่างๆ คือ พระอรหันต์ ได้แก่ พระอริยบุคคลขั้นสูงสุด ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา รองลงมาเป็น พระอนาคามี ละสังโยชน์ได้ ๕ ข้อต้น ได้แก่ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส กามราคะ ปฏิฆะ ส่วนพระสกิทาคามี สังโยชน์ได้ละ ๓ ข้อต้น และทำข้อกามราคะ และปฏิฆะให้เบาบางลง และ พระโสดาบันละได้ ๓ ข้อ คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาสได้เด็ดขาด
ประวัติและการสั่งสมบารมีของพระมหากัสสปะ เดิมมีชื่อปิปผลิ เกิดในสกุลพราหมณ์กัสสปโคตร แคว้นมคธรัฐ ออกบวชโดยรับโอวาท ๓ ข้อจากพระพุทธเจ้า ส่วนพระอานนทเถระเกิดในตระกูลกษัตริย์ ศากยะโคตร กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยะ การบำเพ็ญบารมีธรรมโดยปฏิบัติธรรมในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงแสดงบัญญัติและทรงปฏิบัติเป็นแบบอย่าง ในอดีตชาติพระมหากัสสปเถระได้บำเพ็ญบารมีโดยตั้งจิตปรารถนาเป็นพระสาวกผู้ถือธุดงค์ เมื่อเป็นพระอรหันต์จึงได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะด้านถือธุดงค์ ส่วนพระอานนทเถระได้รับการยกย่องเป็นเอตทัคคะ ๕ ด้าน ได้แก่ มีสติ มีคติดี มีความเพียรดี เป็นพหูสูต และเป็นยอดภิกษุด้านพุทธุปัฏฐาก
การเปรียบเทียบการบรรลุธรรมของพระเถระพบว่า พระมหากัสสปเถระได้ปฏิบัติโดยอาศัยโอวาทของพระศาสดาที่ทรงประทานให้ และการถือธุดงค์ ๑๓ ข้อ อย่างเคร่งครัด แล้วจึงเจริญวิปัสสนาตามหลักมหาสติปัฏฐานในหมวดกายานุปัสสนา จนสติมีกำลังเป็นสติสังวร ข่มราคะ จนจิตสงบด้วยสมถะและวิปัสสนาได้บรรลุพระนิพพาน ส่วนพระอานนท์เริ่มปฏิบัติด้วยการเจริญกายคตาสติในสัมปชัญญบรรพและได้บรรลุธรรมในขณะกำลังเอนกายลงนอน ยกเท้าพ้นจากพื้น ศีรษะยังไม่ทันถึงหมอน จิตของท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์
ดาวน์โหลด
|