บทคัดย่อ
สารนิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ที่ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของผู้ปฏิบัติธรรมวัดหทัยนเรศวร์ จังหวัดนครปฐม กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นผู้ปฏิบัติธรรม จำนวน ๖๖ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถาม มีค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นเท่ากับ ๐.๙๗ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปทางสถิติ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่า t (t – test) และ One – Way analysis of variance (F – test) เมื่อพบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ใช้การทดสอบรายคู่ด้วยวิธีการของ เชฟเฟ่ (Scheffe’s Post hoc Comparison)
ผลการวิจัยพบว่า
(๑) กลุ่มตัวอย่างมีการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ของผู้ปฏิบัติธรรมวัดหทัยนเรศวร์ จังหวัดนครปฐม ทั้ง ๔ ด้าน โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมาก ๒ ด้าน คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือผู้ปฏิบัติธรรมสามารถกำหนดรู้การเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของกาย เช่น แขน ขา มือ ศีรษะ ในการทำกิจกรรมต่างๆ และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ผู้ปฏิบัติธรรมสังเกตว่าความทุกข์ทางใจนั้นอาจ ไม่เกี่ยวกับทุกข์ทางกายเสมอไป และอยู่ในระดับปานกลาง ๒ ด้าน คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ผู้ปฏิบัติธรรมระลึกรู้ว่าจิตมีการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องปกติธรรมดา และธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ ผู้ปฏิบัติสามารถรับรู้ถึงสาเหตุที่ทำให้ความพยาบาท ชิงชังนั้นเกิดขึ้นได้
(๒) ผู้ปฏิบัติธรรมที่มีเพศ อาชีพ และจำนวนครั้งที่มาปฏิบัติธรรมต่างกัน มีการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕ ส่วนผู้ปฏิบัติธรรมที่มีอายุ และระดับการศึกษาต่างกัน มีการปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน ๔ ไม่แตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ ๐.๐๕
ดาวน์โหลด
|