บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาหลักสุจริต ๓ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและ ๒. เพื่อศึกษาหลักสุจริต ๓ ที่เป็นปัจจัยต่อการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น แล้วนำมาเรียบเรียงบรรยาย และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษา พบว่า
สุจริต หมายถึง การประพฤติถูกต้อง ดีงาม และเป็นไปในฝ่ายกุศลจิต สุจริตแบ่งออกเป็น ๓ ประการ คือ ๑ กายสุจริต ๒ วจีสุจริต ๓ มโนสุจริต กายสุจริตแบ่งออกเป็น ๓ ข้อ ได้แก่ ๑) การเว้นจากการฆ่าสัตว์ ๒) การเว้นจากการลักขโมย ๓) การเว้นจากการประพฤติผิดประเวณี วจีสุจริต แบ่งออกเป็น ๔ ข้อ ได้แก่ ๑) การไม่พูดเท็จ ๒) การไม่พูดคำหยาบคาย ๓) การไม่พูดส่อเสียด ๔) การไม่พูดเพ้อเจ้อไม่มีสาระ มโนสุจริตแบ่งออกเป็น ๓ ข้อ ได้แก่ ๑) การสำรวมใจไม่เพ่งเล็งเพราะความโลภ ๒) ไม่คิดพยาบาทปองร้ายมนุษย์และสัตว์ ๓) มีสัมมาทิฏฐิ สุจริตธรรมทั้ง ๓ ประการจัดเป็น กุศลกรรมบถ ถือเป็นข้อปฏิบัติเบื้องต้นในระดับศีลธรรม มีอานิสงส์ในการป้องกันวิบากกรรมที่มีผลร้ายและเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ถือเป็นธรรมสำคัญสำหรับคนทั่วไป หากประพฤติผิดสุจริตธรรมย่อมประสพความเสื่อม
ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาผู้ปฏิบัติจะต้องมีสุจริตธรรมเป็นเบื้องต้นทั้ง ๓ ประการ คือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต จัดเป็นกุศลจิตทำให้เห็นคุณและโทษของสุจริต เกิดความปีติยินดีในธรรมจัดเป็นการฝึกจิตในระดับศีลตามหลักไตรสิกขา ส่วนมโนสุจริตทำให้จิตของผู้ปฏิบัติเกิดความผ่องใส ไม่มีปลิโพธ และสามารถข่มจิตจากการฟุ้งของกิเลสคือ ความโลภ โกรธ และความหลงในระดับหยาบได้ ซึ่งเป็นการเกื้อกูลหรือเป็นปัจจัยในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่สำคัญยิ่ง จากนั้นผู้ปฏิบัติย่อมอาศัยศีลคือ สุจริต ๓ เป็นฐานของการฝึกจิตให้สงบด้วยสมาธิ และพัฒนาไปสู่การเจริญสติกำหนดรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงจนเกิดวิปัสสนาญาณในระดับต่างๆ สามารถบรรลุมรรค ผล และนิพพานได้ในที่สุด
ดาวน์โหลด
|