บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาหลักธรรมในอัชฌัตตานิจจสูตร และเพื่อศึกษาปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในอัชฌัตตานิจจสูตร โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนา เถรวาทมีพระไตรปิฎก อรรถกถา และเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมารวบรวม สรุปวิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
อัชฌัตตานิจจสูตรเป็นพระสูตรที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสแสดงแก่พระภิกษุ โดยมีหลักธรรมสำคัญ คือ การกำหนดรู้ภาวะความเป็นจริงของอายตนะภายใน ๖ ได้แก่ จักขุ โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ มโนล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ และอนัตตา อายตนะภายในทุกอย่างแสดงภาวะไตรลักษณ์อยู่ตลอดเวลา เพราะว่าอายตนะภายในมีความเกิดขึ้นเบื้องต้นและการดับ
ไปเบื้องปลาย เพราะอาศัยเหตุปัจจัยที่ไม่เที่ยง อายตนะภายในซึ่งเป็นผลปรากฏย่อมไม่เที่ยงด้วย
เมื่อจิตทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ผ่านอายตนะแล้วจะดับไปตามสภาวะลักษณะอาการของ ไตรลักษณ์ คือ การเกิด-ดับ การบีบคั้น และความไม่มีแก่นสารสามารถสงเคราะห์เข้าในอริยสัจ ปฏิจจสมุปบาท เป็นต้น
หลักการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาในอัชฌัตตานิจจสูตรดำเนินตามแนวปฏิบัติตามหลัก มหาสติปัฏฐาน ๔ มีการกำหนดรู้ในกาย เวทนา จิต และธรรม เพื่อทำให้จิตรู้เห็นสภาวะจริงซึ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาจนเกิดวิปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นการสืบต่อของสันตติ ซึ่งทำหน้าที่ปิดบังไม่ให้เห็นความเป็นอนิจจัง อิริยาบถปิดบังไม่ให้เห็นความเป็นทุกขัง และฆนสัญญาปิดบังไม่ให้เห็นความเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นเครื่องปิดบังลักษณะของรูปนามที่มีสภาวะการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เมื่อการกำหนดรู้ด้วยความเพียร มีสติสัมปชัญญะพยายามอย่างต่อเนื่อง ย่อมทำให้เกิดปัญญาญาณรู้แจ้งชัดตามความเป็นจริงว่า อายตนะภายในทุกอย่างไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และเป็นอนัตตา ในการปฏิบัติเมื่อรู้เกิดปัญญาญาณเห็นอนิจจังแล้วชื่อว่าได้รู้เห็นทุกขังกับอนัตตาพร้อมกันไป เมื่อรู้เห็นทุกขังแล้วชื่อว่าได้รู้เห็นอนิจจังกับอนัตตาพร้อมกันไป เมื่อรู้เห็นอนัตตาแล้วอนิจจังกับทุกขังชื่อว่าได้รู้เห็นพร้อมกันไป เพราะว่าความเป็นไตรลักษณ์มีความปรากฏอยู่ร่วมกันแยกกัน และเป็นอาการของปรมัตถ์สัจจะ จิตจึงหลุดพ้นจากความหลง การยึดมั่นถือมั่น และกิเลสอุปาทาน เพราะบรรลุถึงมรรคญาณ ผลญาณตามลำดับ
ดาวน์โหลด
|