บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ เรื่อง “ศึกษาเปรียบเทียบบริกรรมภาวนาในการปฏิบัติสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา” การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาหลักการบริกรรมภาวนาแบบสมถภาวนา ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักการบริกรรมภาวนาแบบวิปัสสนาภาวนา ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาเปรียบเทียบบริกรรมภาวนาในการปฏิบัติสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา ผลการวิจัยพบว่า
การบริกรรมภาวนาแบบสมถภาวนา คือการพัฒนาจิตให้เกิดความสงบ โดยใช้คำบริกรรม เป็นการเพ่งบัญญัติในอารมณ์กรรมฐาน ๔๐ กอง จนจิตสงบเป็นฌาน ส่วนการบริกรรมภาวนาแบบวิปัสสนาภาวนา คือการบริกรรมพร้อมขณะน้อมจิตไปรับรู้อารมณ์ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นกับจิตในปัจจุบันตามความเป็นจริง โดยมีวิปัสสนาภูมิ ๖ เป็นอารมณ์ เพื่อเกิดญาณรู้แจ้งความจริงแท้
การเปรียบเทียบบริกรรมภาวนาแบบสมถและวิปัสสนามีความเหมือนกันและแตกต่างกัน คือ ๑) บริกรรมภาวนา แบบสมถะนั้นเป็นการพัฒนาให้จิตเกิดความสงบ โดยใช้คำบริกรรม ส่วนแบบวิปัสสนานั้นเป็นการน้อมจิต ไปรับรู้อารมณ์ปัจจุบัน ๒) ประเภทการบริกรรมภาวนา เหมือนกัน ๔ อย่างมีสมถปุพพังคมวิปัสสนา เป็นต้น ๓) ด้านหลักการ มีทั้งเหมือนกันและต่างกัน คือ สิ่งที่เหมือนกัน ได้แก่ เลือกสถานที่ที่สงบตามป่าไม้ เรือนว่าง เว้นเหตุอันไม่เป็นสัปปายะ และสิ่งที่ต่างกันคือ การบริกรรมแบบสมถะต้องมีสติ ศรัทธา สัมปชัญญะ สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ ได้แก่ นิวรณ์ ๕ เป็นต้น ส่วนแบบวิปัสสนาต้องสำรวมอินทรีย์ ทำอินทรีย์ให้แก่กล้า งดพูดคุย เคลื่อนไหวช้าๆ กำหนดปัจจุบัน สิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ ได้แก่ วิปัสสนูปกิเลส เป็นต้น ๔) ด้านองค์ธรรม ต่างกัน คือ แบบสถมภาวนา ได้แก่ สติ สมาธิ ฌาน ส่วนแบบวิปัสสนาภาวนา ได้แก่ สติ สมาธิ และปัญญา ๕) ด้านอารมณ์ ต่างกัน คือ แบบสมถะใช้กรรมฐาน ๔๐ กอง ส่วนวิปัสสนา คือ วิปัสสนาภูมิ ๖ ๖) ด้านผล มีเหมือนกันและต่างกัน คือ ที่เหมือนกัน ได้แก่ สมาธิ ฌาน อภิญญา ส่วนที่ต่างกันคือ สมาธิที่ใด้ในสมถทั้งขณิก อุปปจาระ อัปปนาสมาธิ ส่วนวิปัสสนาสมาธิที่ได้เพียงขณิก และอุปจารสมาธิ สมถ ได้อารัมมณูปนิชฌาน ส่วนวิปัสสนาได้ลักขณูปนิชฌาน สมถะบรรลุอภิญญา ๕ เป็นโลกีย์อภิญญา ส่วนวิปัสสนาบรรลุอภิญญา ๖ เป็นทั้งโลกีย์และโลกุตตรอภิญญา เป็นต้น
ดาวน์โหลด
|