บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการคือ เพื่อศึกษาวิบากในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และ เพื่อศึกษาวิบากที่เป็นปัจจัยแก่การเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยนำข้อมูลจากคัมภีร์สำคัญของพุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก ปกรณวิเสสวิสุทธิมรรค รวมทั้งข้อมูลจากเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้องแล้วนำมาเรียบเรียงบรรยายตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
วิบาก แปลว่า ผลของกุศลและอกุศลที่พิเศษหรือต่างกัน โดยเนื้อความหมายถึง ผลที่เกิดจากกระบวนการทำงานของจิต โดยจิตเสวยอารมณ์ที่เกิดดับไปก่อนจัดเป็นวิบากของจิต วิบากแบ่งออกเป็น ๒ อย่างคือ ๑) กุศลวิบากและ ๒) อกุศลวิบาก เมื่อจิตดวงก่อนเป็นกุศลดับไปจิตจะมีกุศลเป็นวิบากทันที เมื่อจิตดวงก่อนดับเป็นอกุศล มีอกุศลเป็นวิบาก กุศลวิบากเมื่อจิตเสวยเข้าแล้วย่อมทำให้เกิดสุขเวทนา ส่วนอกุศลวิบากเมื่อจิตเสวยเข้าแล้วย่อมทำให้เกิดทุกขเวทนา โดยความเข้าใจของปุถุชนทั่วไปเข้าใจว่ากุศลและอกุศลวิบากเกิดจากกรรมทำให้เกิดขึ้น แต่กุศลและอกุศลเกิดขึ้นจากจิตที่เกิดดับทุกขณะเป็นปกติ จิตที่เกิดดับย่อมเสวยวิบากสืบต่อกันวนเวียนเป็นวัฏฏะไม่มีสิ้นสุด ตามหลักพระพุทธศาสนาการหลุดพ้นจากวิบากต้องอาศัยการเจริญวิปัสสนาภาวนาจนบรรลุมรรค ผล นิพพาน
การเจริญวิปัสสนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ มี สติระลึกรู้ กาย เวทนา จิต ธรรม การระลึกรู้อยู่อย่างนี้ ย่อมรู้เห็นเหตุปัจจัย ในสภาวธรรมของรูปนามที่เกิด ดับ การกำหนดรู้เห็นเหตุปัจจัยของสภาวธรรมตามความเป็นจริง เพื่อป้องกันกรรมไม่ให้เกิดขึ้น ต้องกำหนดรู้วิบากเพื่อให้เห็นเหตุปัจจัย ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน ของรูปนาม การเห็นตามความเป็นจริงของสภาวธรรมที่มีเหตุปัจจัยอันอิงอาศัยกันและกันอย่างนี้ จิตของผู้ปฏิบัติย่อมน้อมไปสู่การรู้ไตรลักษณ์ และเข้าสู่วิปัสสนาญาณ จนถึง มรรคญาณ ผลญาณ และนิพพาน หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด เข้าสู่ความเป็น พระอริยบุคคล วิบากที่เป็นกุศลส่งผลให้บรรลุเป็นพระอริยบุคคล แต่วิบากที่เป็นอกุศล ก็ยังส่งผลให้รับวิบากกรรมอีก เช่น กรณีพระจักขุบาลเถระ สำเร็จเป็นพระอรหันต์พร้อมกับตาของท่านบอดทันทีเป็นต้น วิบากทั้งที่เป็นกุศลและอกุศล ย่อมติดตามเหมือนเงาติดตามตัว เพราะกรรมที่ได้กระทำไว้
ดาวน์โหลด
|