บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ เพื่อศึกษาการปฏิบัติธุดงควัตรในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาเนสัชชิกังคธุดงควัตรในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาของพระราชสิทธาจารย์ วิ. (ทองใบ ปภสฺสโร) โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท คือ พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์วิสุทธิมรรค เป็นต้น และจากหนังสือการปฏิบัติธรรมของ พระราชสิทธาจารย์ ตลอดทั้งบทสัมภาษณ์ แล้วนำมาเรียบเรียงบรรยาย และตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษา พบว่า
ธุดงควัตรหมายถึง ธรรมเครื่องขัดเกลากิเลสให้เบาบางเป็นธรรมเครื่องช่วยให้ผู้ถือปฏิบัติธุดงค์เพิ่มความเพียรให้มากยิ่งขึ้น ว่าโดยหลักในคัมภีร์แล้วมี ๑๓ ประการ คือ การบิณฑบาตเป็นปกติ การอยู่ป่าเป็นปกติเป็นต้น มีหลักปฏิบัติอยู่ ๔ หมวด คือ ว่าด้วยเครื่องนุ่งห่ม หมวดว่าด้วยอาหาร หมวดว่าด้วยที่อยู่อาศัย หมวดว่าด้วยการปรารภความเพียร คือการถืออิริยาบถ ๓ เว้นการนอน
เนสัชชิกังคธุดงควัตร หมายถึงการสมาทานไม่นอน มีแนวทางปฏิบัติ ๓ ระดับคือ ๑) ระดับต่ำ สามารถใช้พนักอิงข้าง แคร่นั่งทำด้วยผ้า ผ้าสายโยค หมอนพิง เก้าอี้มีองค์ ๕ เก้าอี้ มีองค์ ๗ ใช้ได้ ๒) ระดับกลาง สามารถใช้พนักอิงข้าง แคร่นั่งทำด้วยผ้า และเก้าอี้ ในของ ๓ อย่างนี้ เพียงแต่อย่างใดอย่างหนึ่งใช้ได้ ๓) ระดับเคร่ง หรือ ระดับอุกฤษฏ์ พนักอิงข้าง หมอนอิงข้าง แคร่นั่งทำด้วยผ้า ผ้าสายโยค เก้าอี้มีองค์ ๕ เก้าอี้มีองค์ ๗ ใช้ไม่ได้
การปฏิบัติเนสัชชิกังคธุดงควัตรของพระราชสิทธาจารย์ วิ. (ทองใบ ปภสฺสโร) ปฏิบัติ ๒ ระดับ คือ ระดับกลางและระดับอุกฤษฏ์ ปฏิบัติสลับกันไปทุก ๗ วัน ตลอดระยะเวลา ๒๓ ปี ท่านเป็นคนพูดน้อย สันโดษในปัจจัยสี่ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ มีความมุ่งมั่นปรารภความเพียรไม่หยุดจนกว่าจะประสบความมุ่งหมาย
ดาวน์โหลด
|