บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ (๑) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาตนตามหลักพุทธธรรมและจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ (๒) เพื่อสร้างโมเดลกระบวนการพัฒนาตนตามหลักพุทธจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ (๓) เพื่อตรวจสอบความตรงและนำเสนอโมเดลกระบวนการพัฒนาตนตามหลักพุทธจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ วิธีการวิจัยเป็นแบบผสมวิธีที่ใช้วิธีการวิจัยเชิงปริมาณเพื่อขยายผลวิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านพระพุทธศาสนาและจิตวิทยาร่วมสมัยจำนวน ๑๕ รูป/คน โดยใช้การเลือกแบบเจาะจง และสำหรับการวิจัยเชิงปริมาณใช้การสุ่มสองขั้นตอน ได้กลุ่มตัวอย่างจำนวน ๕๕๓ คน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์เชิงลึกและแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติบรรยาย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป วิเคราะห์เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และวิเคราะห์ขนาดอิทธิพลทางตรงและทางอ้อมด้วยโปรแกรม LISREL
ผลการวิจัย มีดังนี้
๑. กระบวนการพัฒนาตนตามหลักพุทธจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ทั้งตัวแปรทางพุทธจิตวิทยาและตัวแปรทางจิตวิทยา ประกอบด้วย (๑) กระบวนการพัฒนาตนตามหลักพุทธจิตวิทยา (๒) กัลยาณมิตรของครูในโรงเรียนวิถีพุทธ และ (๓) ภาวะการตื่นรู้
๒. โมเดลเชิงสาเหตุที่สร้างขึ้นมีจำนวน ๒ โมเดล คือโมเดลที่ ๑ กระบวนการพัฒนาตนตามหลักพุทธจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ โดยมีกัลยาณมิตรของครูในวิถีพุทธเป็นตัวแปรส่งผ่านประกอบด้วย ตัวแปรแฝง ๓ ตัวแปร แบ่งเป็นตัวแปรภายในแฝง ๒ ตัวแปร ได้แก่ ภาวะตื่นรู้ มีตัวแปรสังเกตได้ คือ (๑) รู้ (๒) ตื่น (๓) เบิกบาน และกัลยาณมิตรของครูในวิถีพุทธเป็นตัวแปรส่งผ่าน มีตัวแปรสังเกตได้ คือ (๑) น่ารัก (๒) น่าเคารพ (๓) น่ายกย่อง (๔) เป็นที่ปรึกษาที่ดี (๕) อดทนฟังถ้อยคำ (๖) อธิบายเรื่องซับซ้อนได้ (๗) ไม่แนะนำทางเสื่อมเสีย ตัวแปรภายนอกแฝง ๑ ตัวแปร ได้แก่ กระบวนการพัฒนาตนตามหลักพุทธจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ มีตัวแปรสังเกตได้ ๗ ตัว คือ (๑) รู้จักตนเอง (๒) รู้คุณค่า (๓) รู้ศักยภาพที่แท้จริงของตน (๔) การนำไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันอย่างเต็มศักยภาพ (๕) ศีล (๖) สมาธิ (๗) ปัญญา และโมเดลที่ ๒ กระบวนการพัฒนาตนตามหลักจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้โดยมีการพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขาเป็นตัวแปรส่งผ่าน ประกอบด้วย ตัวแปรแฝง ๓ ตัวแปร แบ่งเป็นตัวแปรภายในแฝง ๒ ตัวแปร ได้แก่ ภาวะตื่นรู้ มีตัวแปรสังเกตได้ คือ (๑) รู้ (๒) ตื่น (๓) เบิกบาน และการพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขา เป็นตัวแปรส่งผ่าน มีตัวแปรสังเกตได้ คือ (๑) น่ารัก (๒) น่าเคารพ (๓) น่ายกย่อง (๔) เป็นที่ปรึกษาที่ดี (๕) อดทนฟังถ้อยคำ (๖) อธิบายเรื่องซับซ้อนได้ (๗) ไม่แนะนำทางเสื่อมเสีย ตัวแปรภายนอกแฝง ๑ ตัวแปร ได้แก่ กระบวนการพัฒนาตนตามหลักจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ มีตัวแปรสังเกตได้ ๔ ตัว คือ (๑) รู้จักตน (๒) รู้คุณค่าของตน (๓) รู้ศักยภาพที่แท้จริงของตน (๔) การนำศักยภาพไปใช้ให้เต็ม
๓. ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ทั้ง ๒ โมเดล ดังนี้
๑) โมเดลกระบวนการพัฒนาตนตามหลักพุทธจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ ที่มีตัวแปรกัลยาณมิตรของครูในวิถีพุทธเป็นตัวแปรส่งผ่านมีค่าไค-สแควร์ เท่ากับ ๓๘.๗๕ องศาอิสระเท่ากับ ๕๑ และค่าความน่าจะเป็น (p) เท่ากับ .๐๙๐ ดัชนีวัดความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ ๐.๙๙ ค่าดัชนีความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ ๐.๙๘ ค่าดัชนีรากกำลังสองเฉลี่ยของค่าความแตกต่างโดยประมาณ (RMSEA) เท่ากับ ๐.๐๐๐ อิทธิพลทางตรงและอิทธิพลทางอ้อมที่ส่งผลต่อการตื่นรู้ (TUV) โดยมีขนาดอิทธิพลเท่ากับ ๐.๗๐ และ .๐๐๑ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
๒) โมเดลกระบวนการพัฒนาตนตามหลักจิตวิทยาเพื่อการตื่นรู้ที่มีการพัฒนาตนตามหลักไตรสิกขา เป็นตัวส่งผ่านมีค่าไค-สแควร์ เท่ากับ ๑๘.๙๗ องศาอิสระเท่ากับ ๒๐ และค่าความน่าจะเป็น (p) เท่ากับ .๐๕๒ ดัชนีวัดความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ ๐.๙๙ ค่าดัชนีความกลมกลืน ที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ ๐.๙๘ ค่าดัชนีรากกำลังสองเฉลี่ยของค่าความแตกต่างโดยประมาณ (RMSEA) เท่ากับ ๐.๐๐ อิทธิพลทางตรงและอิทธิพลทางอ้อมที่ส่งผลต่อการตื่นรู้ (TUV) โดยมีขนาดอิทธิพลเท่ากับ ๐.๐๑ และ๐.๙๗ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
ดาวน์โหลด
|