บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์กระบวนการทำงานของจิตในคัมภีร์อัฏฐสาลินี”
เป็นการวิจัยเชิงเอกสารเชิงคุณภาพซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาจิต เจตสิก รูป
และนิพพาน ในคัมภีร์อัฏฐสาลินี (๒) เพื่อศึกษากระบวนการทำงานของจิตตามที่ปรากฏในคัมภีร์ อัฏฐสาลินี (๓) เพื่อวิเคราะห์กระบวนการทำงานของจิตในคัมภีร์อัฏฐสาลินี การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากคัมภีร์อัฏฐสาลินี หนังสือ อรรถกถา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องการวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัย มีดังนี้
๑. การศึกษาจิต เจตสิก รูป และนิพพาน ในคัมภีร์อัฏฐสาลินี พบว่า จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ หรือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สึกต่อการสัมผัสถูกต้องทางกาย
และรู้สึกนึกคิดทางใจ เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยหลายอย่างทำให้เกิดขึ้น เจตสิกเป็นธรรมที่ประกอบจิต มีลักษณะเป็นนาม ปรุงแต่งจิตทำให้จิตรู้อารมณ์ ความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับเจตสิกมีลักษณะคือ เจตสิกอาศัยจิต ประกอบกับจิต เกิดร่วมกับจิต เกิดพร้อมกับจิต ดับพร้อมกับจิต มีวัตถุเดียวกับจิต และมีอารมณ์เดียวกับจิต จิตทุกดวงต้องมีเจตสิกประกอบด้วยจึงทำให้จิตทำงานได้ รูปคือธรรมชาติที่แตกดับ คือ มหาภูต ๔ หมายถึง รูปใหญ่ ประกอบด้วย ปฐวี อาโป เตโช และวาโย และอุปาทายรูป ๒๓ หมายถึง รูปที่เป็นไปโดยอาศัยมหาภูต และนิพพาน คือ ธรรมชาติที่สงบจากกิเลสและขันธ์ ๕
๒. การศึกษากระบวนการทำงานของจิตในคัมภีร์อัฏฐสาลินีพบว่า จิตเกิดขึ้นเพราะปัจจัยทางปัญจทวารวิถี กล่าวคือ จักขุทวารวิถี เกิดขึ้นเมื่อมีอารมณ์คือรูปมากระทบจักขุปสาท ภวังคจิต ๓ ดวงสุดท้าย คือ อตีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ ต้องเกิดขึ้นก่อนจักขุทวาราวัชชนจิต เมื่อกระแสภวังคจิตสิ้นสุดลง จักขุทวารวิถีจึงเริ่มเกิดขึ้นตามลำดับ และเมื่อจักขุทวารวิถีสิ้นสุดลงภวังคจิต ๒ ดวง คือภวังคจลนะ ภวังค์คุปัจเฉทะ เกิดขึ้นระหว่างปัญจทวารวิถี และมโนทวารวิถี และก็ดับลง มโนทวารวิถีจึงเกิดสลับกันไปมากับปัญจทวารวิถี
๓. การวิเคราะห์กระบวนการทำงานของจิตในคัมภีร์อัฏฐสาลินี พบว่า กระบวนการของกรรมกับกระบวนการทำงานของจิตเป็นอันเดียวกัน กระแสกรรมและกระแสจิตคือกระแสเดียวกัน กรรมมีสาระเป็นทั้งเหตุและผล โดยที่ความเป็นเหตุเด่นชัดมากกว่าความเป็นผล ในการทำทางกาย วาจา และใจ แต่ละครั้งถือเป็นการก่อเหตุที่จะทำให้ผลตามมา ภาวะจิตของปุถุชนจึงต่างจากภาวะจิตของ พระอรหันต์คือจิตของท่านไม่ได้สะสมกรรม เพราะเหตุแห่งโยนิโสมนสิการ กล่าวคือการใคร่ครวญโดยถ้วนถี่ ด้วยสัญญา ๗ ซึ่งมีความสำคัญในกระบวนการพัฒนาจิตให้เกิดสติสัมปชัญญะคอยกั้นกระแสตัณหา ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยราคะ โทสะ และโมหะ
ดาวน์โหลด
|