บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทางพุทธจิตวิทยาการสร้างความสามัคคีในการทำงานเพื่อทีมงานที่ประสบความสำเร็จ ๒) เพื่อสร้างโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุทางพุทธจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความสามัคคีในการทำงานเพื่อทีมงานที่ประสบความสำเร็จ และ ๓) เพื่อตรวจสอบความตรงและนำเสนอโมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุทางพุทธจิตวิทยาการสร้างความสามัคคีเพื่อทีมงานที่ประสบความสำเร็จ เป็นการวิจัยแบบผสมวิธีที่ใช้วิธีการเชิงปริมาณเพื่อขยายผลวิธีการเชิงคุณภาพ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลสำคัญคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านพระพุทธศาสนา ด้านจิตวิทยา นักธุกิจ และผู้บริหารองค์กรตามแนววิถีพุทธ จำนวน ๑๓ รูป/คน โดยใช้การเลือกแบบเจาะจง และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยเชิงปริมาณใช้การสุ่มแบบกลุ่ม จำนวน ๔๒๒ คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แนวคำถามในการสัมภาษณ์ และแบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพด้วยการวิเคราะห์เนื้อหาและการสร้างข้อสรุปแบบอุปนัย สำหรับข้อมูลเชิงปริมาณใช้สถิติบรรยาย การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป และการวิเคราะห์เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์ด้วยโปรแกรม LISREL ผลการวิจัยพบว่า
๑. แนวคิดทางพุทธจิตวิทยาการสร้างความสามัคคีในการทำงานเพื่อทีมงานที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ๑) ความมีเมตตา ๒) การถ้อยทีถ้อยอาศัย ๓) การมีเป้าหมายเดียวกัน ๔) การเห็นคุณค่าของงาน มีทัศนคติที่ดีต่องานที่ทำ ๕) การมีความเคารพต่อกัน ๖) การเลือกคนให้เหมาะกับงาน ๗) การปกครองดูแลกันเหมือนพี่น้อง ๘) การสร้างความรู้สึกว่าเขาคือเจ้าของกิจการ ๙) การสร้างแรงจูงใจ และตัวแปรปัจจัยที่เสริมความสำเร็จของทีมงาน ประกอบด้วย ๑) การมีผู้นำที่ดี ๒) คุณภาพการคัดเลือกคนเข้าทำงานของแผนกบุคคล ๓) การมีระเบียบวินัยในองค์กร และ ๔) การเป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ในส่วนของความสำเร็จของทีมงาน พัฒนาตัวแปรจากหลักอิทธิบาท ๔ ได้แก่ ๑) รักในงานที่ทำ ๒) ร่วมกันแก้ปัญหา ๓) มุ่งมั่นในความสำเร็จของตนและองค์กร และ ๔) พัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น
๒. โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุทางพุทธจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการสร้างความสามัคคีในการทำงานเพื่อทีมงานที่ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย ตัวแปรภายนอกแฝง ๑ ตัวแปร
คือ ความสามัคคีในการทำงาน และตัวแปรภายในแฝง ๒ ตัวแปร คือ ๑) ปัจจัยที่เสริมความสำเร็จของทีมงาน และ ๒) ทีมงานที่ประสบความสำเร็จ โดยที่ตัวแปรปัจจัยที่เสริมความสำเร็จของทีมงาน
ทำหน้าที่เป็นตัวแปรส่งผ่านในโมเดล
๓. โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุทางพุทธจิตวิทยาการสร้างความสามัคคีเพื่อทีมงานที่ประสบความสำเร็จสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยมีค่าไค-สแควร์ เท่ากับ ๗๖.๔๙ องศาอิสระ (df) เท่ากับ ๖๕ ความน่าจะเป็น (p) เท่ากับ .๑๕๖ ค่าดัชนีวัดความกลมกลืน (GFI) เท่ากับ .๙๘
ค่าดัชนีวัดความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว (AGFI) เท่ากับ .๙๖ ค่าดัชนีรากของกำลังสองเฉลี่ยของส่วนที่เหลือ (RMR) เท่ากับ .๐๐๘๙ และค่าดัชนีรากกำลังสองเฉลี่ยของค่าความแตกต่างโดยประมาณ (RMSEA) เท่ากับ .๐๑๘ อธิบายความแปรปรวนของทีมงานที่ประสบความสำเร็จ ได้ร้อยละ ๙๑.๐๐ เมื่อพิจารณาอิทธิพลทางตรงและอิทธิพลทางอ้อมที่ส่งผลต่อตัวแปร พบว่า ทีมงานที่ประสบความสำเร็จ ได้รับอิทธิพลทางตรงจากการสร้างความสามัคคี และปัจจัยเสริมความสำเร็จของทีมงาน โดยมีขนาดอิทธิพลเท่ากับ .๔๕ และ.๕๒ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ตามลำดับ และทีมงานที่ประสบความสำเร็จ ได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากความสามัคคี ผ่านตัวแปรปัจจัยเสริมความสำเร็จของทีมงาน โดยมีขนาดอิทธิพลเท่ากับ .๔๗ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑
ดาวน์โหลด
|