บทคัดย่อ
สารนิพนธ์ฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ ได้แก่ ๑) เพื่อศึกษาสติและสัมปชัญญะในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และ ๒) เพื่อศึกษาสติและสัมปชัญญะในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
โดยการศึกษาข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และคัมภีร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น คัมภีร์
วิสุทธิมรรค โดยการเรียบเรียง บรรยาย และตรวจสอบ โดยอาจารย์ที่ปรึกษา และผู้เชี่ยวชาญ
จากการศึกษาพบว่า
สติตามรูปศัพท์หมายถึง การตามระลึกอารมณ์ของจิตทุกขณะปัจจุบัน ส่วนสัมปชัญญะ คือ ความรู้ตัว ธรรมทั้ง ๒ เป็นธรรมที่เกื้อกูลและสนับสนุนธรรมอื่นๆ พระพุทธเจ้าจึงทรงสรรเสริญ สติและสัมปชัญญะว่าเป็นธรรมที่เป็นประโยชน์สูงสุด จัดเป็นภาเวตัพพธรรม คือ ธรรมที่สมควรทำให้เกิดมีและเจริญขึ้น มีประโยชน์มากทั้งในด้านการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติธรรม หลักธรรมที่สนับสนุนสติและสัมปชัญญะ คือโพธิปักขิยธรรม ๓๗ มีสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น ผู้ขาดสติและสัมปชัญญะจะทำให้ภาวะของจิตตกอยู่ในฝ่ายอกุศลธรรมและเป็นเหตุให้ทำความชั่วต่างๆ
สติและสัมปชัญญะในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา คือ การใช้สติและสัมปชัญญะกำหนดรู้สภาวธรรมรูปนามโดยการกำหนดรู้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และเห็นธรรมในธรรม ผู้ปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาต้องมีสติและสัมปชัญญะกำหนดรู้อิริยาบถใหญ่คือการเดิน ยืน นั่ง นอน และอาการทางกายต่างๆ ให้ทันขณะปัจจุบันตามสภาวะความเป็นจริงด้วย จนจิตไม่หลงยึดความคิดปรุงแต่งว่าเป็นจริง จึงจะเกิดปัญญาญาณได้ องค์ธรรมสำคัญในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนาตามหลักสติปัฏฐาน ๔ มีอาตาปี สัมปชาโน สติมา ซึ่งเป็นองค์คุณที่ช่วยทำให้เห็นสภาวธรรมทั้งหลายที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง สามารถกำจัดอภิชฌาและโทมนัสทุกอย่างได้ เมื่อจิตดำเนินไปตามโพธิปักขิยธรรม พร้อมด้วยสติและสัมปชัญญะที่มีความเข้มแข็งแก่กล้าจึงจะทำให้
ผู้ปฏิบัติบรรลุมรรคญาณ ผลญาณ และพระนิพพาน ความทุกข์ทั้งหมดจึงดับได้อย่างสิ้นเชิง
ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา
ดาวน์โหลด |