บทคัดย่อ
สารนิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๒ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการบรรลุธรรมในคัมภีร์
พุทธศาสนาเถรวาท ๒) เพื่อศึกษาชีวิตและวิธีการปฏิบัติเพื่อการบรรลุธรรมของสังกิจจสามเณร
โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดย ผู้เชี่ยวชาญ
การบรรลุธรรม หมายถึง การรู้แจ้งอริยสัจ ๔ ตามระดับโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน ๑ โดยมีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เป็นหลักธรรมสำคัญที่ทำให้พัฒนาจากปุถุชนเป็นอริยบุคคลตามลำดับ คือ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์
สังกิจจสามเณรเป็นบุตรของธิดาเศรษฐีชาวเมืองสาวัตถีคนหนึ่ง ขณะที่อยู่ในท้อง มารดาได้เสียชีวิตลง ญาติพี่น้องจึงนำศพไปเผา และได้เกิดเหตุอัศจรรย์ที่ไฟไม่ไหม้ส่วนท้อง พวกสัปเหร่อจึงได้ใช้หลาวเหล็กแทงส่วนท้องที่ไฟไม่ไหม้นั้น ปลายหลาวเหล็กกระทบที่หางตาของทารกนั้นพอดี ปรากฏว่าทารกรอดชีวิตมาได้โดยที่ไฟไม่สามารถทำอันตรายได้ เมื่อสังกิจจกุมาร อายุได้ ๗ ขวบได้ทราบประวัติของตนเอง จึงปรารถนาจะบวช พวกญาติจึงพาไปขอบวชจากพระสารีบุตร ในวันบวชพระเถระให้ตจปัญจกกรรมฐานแล้วให้บวช สามเณรได้บรรลุพระอรหัตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทา
ในขณะที่ปลงผมเสร็จ
ตจปัญจกกรรมฐาน เป็นการพิจารณาส่วนของร่างกายทั้ง ๕ คือ ผม ขน เล็บ ฟัน และหนัง ซึ่งตจปัญจกกรรมฐานเป็นทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ทั้งนี้การเจริญกรรมฐานตามแนวสมถยานิกบุคคล โดยไม่ยึดติดในความสุขอันเกิดจากสมาธิ จากนั้นกำหนดรู้ เห็นความเกิดดับ
ของรูปนาม จนเกิดความเบื่อหน่าย จิตที่เบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด ทำให้หลุดพ้นจากอุปาทาน
สิ้นอาสวะกิเลส บรรลุมรรค ผลและพระนิพพานได้ในที่สุด
ดาวน์โหลด
|