สารนิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์ คือ ศึกษาโลภเจตสิกในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาโลภเจตสิในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา โดยการศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา คัมภีร์ปกรณวิเสส ตำราทางวิชาการต่างๆ และเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นำมารวบรวมสรุปวิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบความถูกต้องโดยผู้เชี่ยวชาญ จากการศึกษาพบว่า
โลภมูลจิต ๘ จัดอยู่ในอกุศลจิตมีความโลภเป็นมูลเป็นประทาน มีการปรุงแต่งจิตให้มีอาการของความโลภความอยากได้ อาจรุนแรงถึงกับประพฤติเป็นทจริต อำนาจของความโลภทำหน้าที่ดึงจิตให้ปรารถนากามคุณไม่สิ้นสุด จิตที่มีโลภเจตสิกประกอบจะแสดงอาการถือมั่นอารมณ์เป็นลักษณะ มีการติดในอารมณ์เป็นกิจ และยังเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ ทำให้จิตเกิดความเร่าร้อนเพราะกิเลสเป็นผล คือ โลภะเป็นเหตุแห่งทุกข์ในสมุทยสัจ โลภเจตสิกแม้ดวงเดียวมีผลให้เป็นทุกข์เร่าร้อนทั้งกายและใจ สภาพของโลภะ คือ ความพอใจในอารมณ์ที่เข้าไปยึดถือติดข้อง ความโลภในพระสูตรต่างๆ ที่กล่าวถึงโลภเจตสิกหมายรวมเอาตัณหาความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ความยึดติด ความหวงแหนซึ่งเป็นเหมือนเชือกที่ผูกสัตว์ไว้แล้วแต่ว่าสัตว์นั้นจะถูกดึงไปในทิศทางไหน จิตที่มีโลภเจตสิกมีความโลภมักนำไปสู่อบายภูมิเท่านั้น เพราะมักยึดมั่นและไหลไปสู่อารมณ์ที่เกิดขึ้นมาทันที
ในการปฏิบัติวิปัสสนาภาวนา ผู้ปฏิบัติที่เข้าใจโลภเจตสิกซึ่งมีผลให้จิตแสดงออกมาเป็นทุจริตในระดับต่างๆ ซึ่งสามารถละได้ด้วยการดำเนินตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา และพิจารณาอารมณ์วิปัสสนาด้วยการกำหนดรู้สภาพของโลภเจตสิก เหมือนของมักดองหรืออาสวะที่ทำให้มึนเมา หรือเหมือนโอฆะ คือน้ำที่ไหลอยู่ตลอดเวลา จากนั้นให้จิตมีสติและสัมปชัญญะกำกับรู้พฤติกรรมของจิตตามหลักจิตตานุปัสสนาคือ เมื่อใดมีจิตประกอบด้วยโลภะหรือราคะให้เห็นความเป็นสภาพไตรลักษณ์ นอกจากนั้นให้พัฒนาอินทรีย์และน้อมจิตเข้าสู่วิปัสสนาญาณ เมื่อจิตมีกำลังและแก่กล้าและไม่หยุดการเจริญวิปัสสนาภาวนาย่อมทำให้บรรลุมรรค ผล เพราะรู้แจ้ง อริยสัจจ์ ๔ มีทุกขอริยสัจ ทุกขสมุทยสัจ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ถึงความดับทุกข์ คือพระนิพพานได้ในที่สุด
ดาวน์โหลด
|