บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ เพื่อศึกษาหลักการปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา ๓ ในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท เพื่อศึกษาหลักการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเพื่อศึกษาการปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา ๓ เพื่อการเจริญวิปัสสนาภาวนาในคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาท โดยศึกษาข้อมูลจากคัมภีร์พุทธศาสนาเถรวาทและเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง รวบรวม สรุป วิเคราะห์ เรียบเรียงบรรยายเชิงพรรณนา ตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ
จากการศึกษาพบว่า อปัณณกปฏิปทา ๓ เป็นหลักธรรมที่เป็นพื้นฐานสำหรับในการปฏิบัติพระกรรมฐาน คือ ๑) อินทรียสังวร สำรวมระวังอินทรีย์ ๖ ทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจไม่ให้ยินดียินร้ายในขณะเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะและรู้ธรรมารมณ์ ๒) โภชเนมัตตัญญุตา ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร รู้ประมาณในการกิน คือกินเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกายให้ชีวิตเป็นอยู่ได้ผาสุก ๓) ชาคริยานุโยค การประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ ไม่เห็นแก่นอนตื่นตัวอยู่เป็นนิตย์ชำระจิตไม่ให้มีนิวรณ์ เป็นธรรมสำหรับการเจริญวิปัสสนาภาวนาถือเป็นหลักธรรมสำคัญที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ตามลำดับการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรม
การเจริญวิปัสสนาภาวนาในพุทธศาสนาเถรวาท เป็นการฝึกอบรมทางด้านจิตใจ มีวิธีการปฏิบัติ ๔ แบบ คือ ๑) สมถปุพพังคมวิปัสสนา การปฏิบัติวิปัสสนามีสมถะนำหน้า ๒) วิปัสสนาปุพพังคมสมถะ การปฏิบัติวิปัสสนามีสมถะตามหลัง ๓) ยุคนัทธสมถวิปัสสนา การปฏิบัติวิปัสสนากับสมถะผสมกัน ๔) ธัมมุทธัจจวิคคหิตมานัส การปฏิบัติวิปัสสนามีใจถูกอุทธัจจะในธรรมกั้นไว้ พระสารีบุตรแสดงสติปัฏฐานกถาไว้ในคัมภีร์ปฏิสัมภิทามรรคโดยท่านอธิบายหลักการและวิธีการปฏิบัติสติปัฏฐานแบบวิปัสสนาล้วน ซึ่งจัดเป็นวิธีปฏิบัติกัมมัฏฐานแบบหนึ่งในพุทธศาสนา โดยเมื่อย่อแล้วเหลือ ๒ วิธีคือ
๑) สมถยานิกะ การเจริญวิปัสสนาด้วยสมถภาวนาก่อนวิปัสสนาทำองค์ฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตาให้เกิดขึ้นเป็นวสีแล้วยกจิตออกจากฌานพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ ๒) วิปัสสนายานิกะ การเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว กำหนดรู้รูปนามเกิดดับตามความเป็นจริงพิจารณาเห็นไตรลักษณ์
หลักการปฏิบัติอปัณณกปฏิปทา ๓ ชื่อว่าปฏิบัติไม่ผิดและปรารภเหตุเพื่อความสิ้นอาสวะ ข้อปฏิบัติทั้ง ๓ ประการ เหล่านี้เป็นวิธีพัฒนาจิตให้บริสุทธิ์ขึ้นตามลำดับ โดยเริ่มจากการสำรวมระวังอินทรีย์ ๖ การรู้ประมาณในการบริโภคอาหาร และการประกอบความเพียรเครื่องตื่นอยู่เนืองๆ จะต้องปฏิบัติควบคู่ไปกับหลักธรรมเหล่านี้ เป็นการเกื้อกูลอุปการะซึ่งกันและกัน เมื่อสามารถปฏิบัติคุณธรรมเหล่านี้ได้บริสุทธิ์บริบูรณ์อย่างแท้จริง จนเป็นเหตุให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจในพระไตรลักษณ์ว่า
รูปนามไม่เที่ยงเพราะมีเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป มีสภาพเป็นทุกข์เพราะถูกความเกิดดับบีบคั้นอยู่เสมอและไม่ใช่ตัวตนเพราะไม่อาจบังคับรูปนามให้เที่ยงและเป็นสุขได้ จนสามารถทำให้ผู้ปฏิบัตินำตนไปสู่การปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนาคือพระนิพพาน
ดาวน์โหลด |