บทคัดย่อ
วิเคราะห์ความเหมือนกันระหว่างกฎแห่งกรรมกับกฎแห่งการดึงดูดมีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ
๑) เพื่อศึกษาหลักกฎแห่งกรรมทางพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษากฎแห่งการดึงดูดของรอนดา เบิร์น (Rhonda Byrne) ๓) เพื่อวิเคราะห์ความเหมือนกันระหว่างกฎแห่งกรรมกับกฎแห่งการดึงดูด โดยออกแบบเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพใช้วิธีการศึกษาจากเอกสารและสัมภาษณ์
ผลการวิจัยพบว่า กฎแห่งกรรมทางพระพุทธศาสนา คือ กฎที่กล่าวถึงเหตุและผลของการกระทำ กรรม หมายถึงการกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่ประกอบไปด้วยเจตนาหรือความจงใจในการกระทำ เจตนานั้นถ้าถูกจูงใจหรือดึงดูดด้วยกุศลมูลจะให้ผลเป็นวิบากกุศล ถ้าเจตนานั้นถูกจูงใจหรือดึงดูดด้วยอกุศลมูลจะให้ผลเป็นวิบากอกุศล การสิ้นกรรมคือการบรรลุถึงพระนิพพานสามารถทำได้ด้วยการละอกุศลอันเป็นเหตุให้อกุศลกรรมดับไป โดยใช้หลักปฏิบัติตามอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทางปฏิบัติอันสูงสุดที่นำไปสู่การดับทุกข์และสิ้นกรรมโดยสิ้นเชิง ในทางพระพุทธศาสนาเรียกมูลเหตุที่ทำให้เกิดความคิดนั้นว่าเป็นเจตนาภายใต้กุศลมูลและอกุศลมูล กฎแห่งกรรมมีคุณลักษณะที่สำคัญ ที่กล่าวได้ว่าเป็นแรงดึงดูดคือกุศลมูลและอกุศลมูล โดยถ่ายทอดหรือส่งผ่านไปสู่เจตนาแล้วให้เกิดเป็นพฤติกรรมการกระทำการแสดงออกทางกาย วาจา แล้วรับผลของการกระทำตามแรงดึงดูดให้กระทำสิ่งนั้น ๆ ส่วนกฎแห่งการดึงดูดเรียกคุณสมบัติที่นำไปสู่การดึงดูดผ่านคำสำคัญ ๓ คำ คือ “ขอ” “เชื่อ” และ“รับ” ที่ถูกฝังลึกลงไปในภวังคจิตหรือจิตใต้สำนึก จนกระทั่งถูกกระตุ้นแล้วสืบเนื่องให้กลายเป็นแรงจูงใจหรือแรงดึงดูดให้มีพฤติกรรมการกระทำให้เกิดผลขึ้นมา ดังนั้นความเหมือนกันของกฎทั้งสองจึงมีลักษณะที่ถูกจูงใจหรือคุณสมบัติพิเศษบางอย่างดึงดูดให้เกิดการกระทำจนเกิดผลขึ้นมาและ กฎทั้งสองยังให้ความสำคัญกับกระบวนการทำงานของจิตเหมือนกัน
ดาวน์โหลด
|