หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสมุห์จักรกฤษณ์ ปญฺญาวโร (ปิยโสภา)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
การประยุกต์คำสอนเรื่องการรักษาโรคในพระพุทธศาสนาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสมุห์จักรกฤษณ์ ปญฺญาวโร (ปิยโสภา) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสิริสุตานุยุต
  พระอธิการสมนึก จรโณ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2561
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

   วิทยานิพนธ์เรื่อง “การประยุกต์คำสอนเรื่องการรักษาโรคในพระพุทธศาสนาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน” มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ ๑) เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องโรคในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาคำสอนเรื่องการรักษาโรคที่ปรากฏในพระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อประยุกต์คำสอนเรื่องการรักษาโรคในพระพุทธศาสนาสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน

   ผลการศึกษาพบว่า โรคและความเจ็บป่วยเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน มาจากรากศัพท์ภาษาบาลีว่า รุช แปลว่า เสียบแทง มี ๒ ประเภท คือ โรคทางกาย (กายิกโรค) และโรคทางใจ (เจตสิกโรค) โรคทางกายทั้งหมดมีสมุฏฐานการเกิดโรคมาจาก ธาตุ อุตุ อายุ สัตว์ วิธี อาหาร จิต และกรรม รวมทั้งความร้อน ความหิว ความกระหาย การไม่รู้จักประมาณในการบริโภค และการถูกทำร้าย ส่วนสาเหตุของการเกิดโรคทางใจ คือ ความโลภ ความโกรธและความหลง 

   ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงวิธีการรักษาโรคทางกายไว้ ๕ กลุ่ม คือ การรักษาโรคโดยใช้สมุนไพร การรักษาโรคโดยหลักโภชนปฏิบัติ การรักษาโรคโดยวิธีทางการแพทย์ การรักษาโรคโดยใช้ธรรมะ และการรักษาโรคโดยวิธีการอื่นๆ เช่น การใช้สัจกิริยา การสร้างกุศลกรรม เป็นต้น ส่วนการรักษาโรคทางใจนั้นใช้หลักความพอเพียง พรหมวิหาร และการพัฒนาจิต

   การประยุกต์แนวทางการรักษาโรคที่ปรากฏในพระไตรปิฎกในชีวิตประจำวัน สามารถประยุกต์ได้ ๔ แนวทาง คือ ๑) การประยุกต์หลักนิยาม ๕ เพื่อการรักษาโรค คือ การทำความเข้าใจกับลักษณะธรรมดาของสรรพ และปรับตัวให้เข้ากับลักษณะธรรมดาของสรรพสิ่งเหล่านั้น ๒) การประยุกต์ใช้หลักโภชเนมัตตัญญุตาในการรักษาโรค คือ การบริโภคอาหารที่ดีมีประโยชน์ พิจารณาอาหารก่อนรับประทาน เพื่อให้มีสติในการบริโภค ไม่กินแบบมัวเมา หลงใหลในรสชาติของอาหารจนทำให้เกินพอดี ๓) การประยุกต์ใช้หลักบริหารกายในการรักษาโรค คือ การประยุกต์การบริหารอิริยาบถทั้ง ๔ ให้มีความสมดุล การออกกำลังกาย การสัมผัสพื้นดิน นอกจากนี้ยังรวมถึงการดูแลความสะอาดของร่างกายและที่พักอาศัยด้วย ๔) การประยุกต์หลักการทำให้เกิดความเหมาะสมในสัปปายะทั้ง ๗ และ ๕) การประยุกต์หลักภาวนา ๔ เพื่อฝึกฝน อบรมพัฒนาร่างกายให้แข็งแรง และทำจิตใจให้มีปัญญานำมาพัฒนาชีวิตให้มีความสุข

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕