บทคัดย่อ
การศึกษาวิเคราะห์คุณค่าการแสดงธรรมพื้นเมืองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการคือ ๑) เพื่อศึกษาภาวะก่อนตายของผู้ป่วยระยะสุดท้าย ๒) เพื่อศึกษาการแสดงธรรมพื้นเมืองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในล้านนา ๓) เพื่อวิเคราะห์คุณค่าของการแสดงธรรมพื้นเมืองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในล้านนา
ผลการศึกษาพบว่า ภาวะก่อนตายของผู้ป่วยส่วนมากจะมีจิตที่วิตก กังวลกลัวต่อความตายทางพระพุทธศาสนามีทัศนะว่า ผู้ป่วยเมื่อใกล้ตายกระแสจิตจะบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองก็ตามส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากกรรมก่อนตายที่เรียกว่า อสันกรรม หากจิตบริสุทธิ์จะส่งผลต่อสุคติหากจิตเศร้าหมองจะส่งผลต่อทุคติ จิตก่อนตายจึงสามารถส่งผลต่อภพชาติได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดคุณค่าแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายได้มีโอกาสใกล้ชิดพระพุทธศาสนา โดยการภาวนากำหนดพุทธานุสติ เป็นต้น
ในล้านนานั้น ได้ประยุกต์แนวคิดนี้จนเกิดเป็นพิธีกรรมการแสดงธรรมพื้นเมืองแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยนำเอาธรรมพื้นเมืองเรื่อง มหาวิบาก ไปแสดงแบบธรรมวัตรให้ผู้ป่วยฟัง มีระเบียบเริ่มจากการ ไหว้พระ สมทานศีล และการถวายสังฆทานบูชากัณฑ์เทศน์ เพื่อให้ผู้ป่วยน้อมจิตเข้าสู่พระพุทธศาสนา มีจิตเบิกบานในธรรมและคุณงามความดีที่ตนได้กระทำเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะเสียชีวิตในอาการอันสงบ ยิ่งไปกว่านั้นยังแฝงแนวคิดเกี่ยวกับการพ้นวิบากกรรมของผู้ป่วยไว้ด้วย
คุณค่าการแสดงธรรมแก่ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในล้านนา สามารถจำแนกออกเป็น ๓ ด้าน คือ ๑) คุณค่าด้านจิตใจ ๒) คุณค่าด้านวัฒนธรรม ๓) คุณค่าด้านสังคม
ดาวน์โหลด |