บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยเรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์บ่อเกิดแห่งความรู้ในพระพุทธศาสนา” มีวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการ ได้แก่ (๑) เพื่อศึกษาความรู้ในทางพระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาบ่อเกิดแห่งความรู้ในทางพระพุทธศาสนา และ (๓) เพื่อวิเคราะห์บ่อเกิดแห่งความรู้ในพระพุทธศาสนา การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสาร ข้อมูลชั้นปฐมภูมิ จากคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พร้อมทั้งอรรถกถา ฎีกา และรวบรวมข้อมูลชั้นทุติยภูมิจากตำรา เอกสาร งานวิทยานิพนธ์ ผลการวิจัยพบว่า
ความรู้ในทางพระพุทธศาสนา มีแนวคิดพื้นฐานมาจากการนำแนวทางการพัฒนาปัญญามาประยุกต์ใช้ในการจัดการความรู้เพื่อสืบค้นว่าความรูในพระพุทธศาสนาสามารถแบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ ความรู้ระดับโลกียะ และความรู้ระดับโลกุตตระ ประโยชน์ของความรู้ในพระพุทธศาสนาศาสนาเป็นเครื่องสั่งสอนให้มนุษย์ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกต้องดีงาม เป็นประโยชน์ ต่อตนเอง สังคม และประเทศชาติ เป็นบ่อเกิดแห่งศีลธรรมจรรยาและขนบธรรมเนียมประเพณี ก่อให้เกิดประโยชน์ ๓ ระดับ คืออัตถะสิ่งจำเป็นจากการนับถือปฏิบัติ สัมปรายิกัตถะ ประโยชน์ภายภาคหน้ามีความปิติสุข และทิฏฐธัมมิกัตถะ ประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน
บ่อเกิดแห่งความรู้ในทางพระพุทธศาสนา พบว่าความรู้ในทางพระพุทธศาสนา มีบ่อเกิด ๓ ทาง คือ ๑)สุตมยปัญญา เรียกปัญญาประเภทนี้ว่ารู้จำ ๒)จินตามยปัญญา เกิดแต่การคิดพิจารณาหาเหตุผล เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งต่างๆ ๓)ภาวนามยปัญญา เป็นปัญญาที่ใช้ตัดสินเรื่องราวความเป็นจริงของสิ่งต่างๆ ของธรรมชาติ
วิเคราะห์บ่อเกิดแห่งความรู้ในพระพุทธศาสนา พบว่าความรู้นั้นสามารถเกิดขึ้นได้อยู่ ๒ ระดับคือระดับโลกียะและระดับโลกุตตระ วิธีทำให้เกิดความรู้ มี ๖ ประการคือ ๑)การศึกษาจากหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ประกอบด้วยหลักสัปปุริสธรรม และอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ๒)ความรู้เกิดจากการฟังธรรมในวันธรรมสวนะ ๓)ความรู้เกิดจากการใช้โยนิโสมนสิการ คิดอย่างถูกวิธี คิดอย่างมีระเบียบ แบบแผน ๔)ความรู้เกิดจากการรักษาศีล ๕) ความรู้เกิดจากการปฏิบัติสมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา เป็นการฝึกจิตให้เกิดปัญญารู้แจ้งตามความเป็นจริง และ ๖)ความรู้เกิดจากพาหุสัจจะ คือความเป็นผู้ได้สดับมาก
ดาวน์โหลด
|