บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์พระวินัยที่เกี่ยวกับสตรีในภิกขุปาติโมกข์” เป็นการศึกษาวิจัยเฉพาะภาคเอกสาร มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับสตรีในพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาอาบัติที่เกี่ยวข้องกับสตรีในภิกขุปาติโมกข์ และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมต่อสตรีของพระภิกษุในปัจจุบัน
จากการศึกษาพบว่า ทัศนะต่อสตรีในสังคมอินเดียโสมัยก่อนพุทธกาล สตรี หมายถึง ผู้ที่ยอมตายตามสามี สตรีที่ปราศจากสามีนั้นเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม สตรีไม่มีสถานภาพเท่าเทียมกับบุรุษ เช่น ไม่สามารถเล่าเรียนหนังสือ คัมภีร์ทางศาสนาได้ เป็นมลทินต่อพิธีกรรม ต่อมาในสมัยพุทธกาล สตรีที่เข้ามานับถือพระพุทธศาสนา จึงได้มีโอกาสได้ฟังธรรม มีความเสมอภาคเท่ากับบุรุษ สามารถร่วมในกิจกรรมทางศาสนา แม้กระทั่งการบวชเป็นภิกษุณีและบรรลุธรรมขั้นสูงในพระพุทธศาสนาได้ด้วย พระพุทธศาสนาได้ยกย่องสตรีไว้หลายฐานะ เช่น ความเป็นมารดา ความเป็นภริยา ความเป็นอุบาสิกา เป็นต้น
ส่วนอาบัติที่เกี่ยวกับสตรีในภิกขุปาติโมกข์พบว่า อาบัติที่เกี่ยวกับสตรีในภิกขุปาติโมกข์มี ๓ อาบัติ คือ ๑. ปาราชิก ได้แก่การเสพเมถุนธรรม ๒. สังฆาทิเสส ได้แก่ การถูกต้องกายหญิง การพูดเกี้ยวหญิงและการพูดให้หญิงบำเรอความใคร่ของตน และ ๓. ปาจิตตีย์ ได้แก่ การนอนร่วมกับผู้หญิง การแสดงธรรมแก่ผู้หญิง การนั่งบนอาสนะที่กำบังในที่ลับกับผู้หญิง การนั่งในที่ลับกับผู้หญิงสองต่อสอง และการกันเดินทางไกลร่วมกันกับผู้หญิง
แนวทางปฏิบัติต่อสตรีที่เหมาะสมของภิกษุ จากการศึกษาพบว่าแนวทางปฏิบัติของภิกษุต่อสตรีจะต้องทำตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ต้องสำรวมระวังในอินทรีย์ ๖ คือ ตา หู จมูก กาย และใจ ระมัดระวังเมื่อได้พบปะสนทนากับสตรี มองสตรีให้เป็นเสมือนญาติของตน แม้กระทั่งการกำหนดอสุภกรรมฐานในร่างกายเพื่อปิดช่องการเกิดราคะในความมัวเมาในสตรีด้วย
ดาวน์โหลด |