หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระครูสุวิธานศีลวัตร (อธิสีโล)
 
เข้าชม : ๑๙๙๕๙ ครั้ง
ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาการทำอัตวินิบาตกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : พระครูสุวิธานศีลวัตร (อธิสีโล) ข้อมูลวันที่ : ๒๒/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูพิพิธจารุธรรม
  สุนทร สุขทรัพย์ทวีผล
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ธันวาคม 2560
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “ศึกษาวิธีการแก้ปัญหาการทำอัตวินิบาตกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท” มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาคือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและทฤษฏีเกี่ยวกับการทำอัตวินิบาตกรรม ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดทางด้านพุทธจริยศาสตร์ต่อการทำอัตวินิบาตกรรม ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางแก้ไขปัญหาการทำอัตวินิบาตกรรมในพระพุทธศาสนาเถรวาท

ผลการศึกษาพบว่า อัตวินิบาตกรรม หมายถึงการกระทำที่เป็นการตั้งใจฆ่าหรือทำลายตนเองจนประสบความสำเร็จตามความตั้งใจนั้น อันเกิดจากลักษณะด้านกายภาพ เช่น ความเจ็บป่วย และคุณภาพของสภาพจิตใจที่มีแรงกดดันทั้งจากครอบครัว เพื่อนร่วมงาน และสภาพปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น ในคัมภีร์พระพุทธศาสนามีหลักฐานการทำอัตวินิบาตกรรม เช่น กรณีพระฉันนเถระและพระวักกลิเถระ ซึ่งมีสาเหตุมาจากความต้องการพ้นทุกข์จากการเจ็บป่วยและการต้องการพ้นทุกข์ในวัฏสงสาร เมื่อพิจารณาตามหลักพุทธจริยศาสตร์แล้วพบว่า พระพุทธศาสนามีหลักการชัดเจนที่ไม่สนับสนุนการฆ่าผู้อื่น แต่ในกรณีการฆ่าตัวเองนั้นไม่ปรากฏเป็นความผิดชัดเจน แต่อย่างไรก็ตามพระพุทธศาสนาถือว่า การเกิดเป็นมนุษย์นั้นเป็นโอกาสที่ยาก หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาทั้งหมดมุ่งไปที่การกระทำที่สุดแห่งกองทุกข์คือ พระนิพพาน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า มรรค ดังนั้น       การทำอัตวินิบาตกรรมจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ผิดหลักการทางพระพุทธศาสนาอย่างสิ้นเชิง

 

พระพุทธศาสนามุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาตามหลักอริยสัจ ๔ บนหลักการที่ว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุให้เกิด ก็ย่อมมีเหตุให้ดับธรรมนั้นได้ แนวทางป้องกันการทำอัตวินิบาตกรรมตามหลักพุทธบูรณาการจึงเป็นการทำความเข้าใจกับต้นตอของการทำอัตวินิบาตกรรมคือ อวิชชา โดย (๑) การสร้างสัมมาทิฏฐิ ได้แก่ การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสัจธรรมแห่งชีวิตและเข้าใจโลกตามความเป็นจริง โดยอาศัยเครื่องมือ ๒ อย่าง คือ ปรโตโฆสะ การรับฟังผู้อื่น และโยนิโสมนสิการ การคิดอย่างแยบคาย และ (๒) การมีกัลยาณมิตรเพราะกัลยาณมิตรจะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือให้ปัญหาเบาบางลง เป็นการลดความเสี่ยงในการทำอัตวินิบาตกรรมลงด้วย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕