บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ในการวิจัย ๒ ข้อดังนี้ คือ ๑) เพื่อศึกษาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนทวีวัฒนา แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ๒) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขาเพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนทวีวัฒนา แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (ทดลอง) กลุ่มตัวอย่างได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนทวีวัฒนา แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร จำนวน ๒๐ คน
ผลการวิจัยพบว่า :
๑. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ โรงเรียนทวีวัฒนา แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร เป็นกระบวนการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อาศัยซึ่งกันและกันในองค์ประกอบทั้ง ๓ ด้าน คือ ศีลเป็นการฝึกในด้านพฤติกรรม การจัดระเบียบระบบความรับผิดชอบความเสียสละ ความกตัญญู การตรงต่อเวลา การมีระเบียบวินัย สมาธิเป็นการฝึกในด้านจิต หรือระดับจิตใจ ความตั้งมั่นตั้งใจ เอาใจใส่มีใจจดจ่อ อย่างมีสมาธิ รวมถึงสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการจัดการความรู้ในองค์กร ปัญญาเป็นการฝึกหรือพัฒนาในด้านปัญญา การรู้ความจริง เริ่มตั้งแต่ความเชื่อความเห็น ความรู้ ความเข้าใจ ความหยั่งรู้เหตุผล การรู้จักวินิจฉัยไตร่ตรอง ตรวจสอบคิดการต่าง ๆ สร้างสรรค์ การจัดการความรู้ การคิดพิเคราะห์ ผู้เรียนได้ลงมือค้นคว้า ซักถาม คิดวิเคราะห์ ตามขั้นตอนของกิจกรรมการเรียนรู้แบบไตรสิกขา ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ปฏิบัติตามระเบียบ กฎเกณฑ์ ควบคุมกาย วาจา เกื้อหนุน ให้เกิดสมาธิ มีใจจดจ่ออยู่กับ การปฏิบัติกิจกรรม โดยไม่สนใจสิ่งรบกวนทั้งภายในและภายนอก เมื่อจิตไม่ฟุ้งซ่าน ไม่สับสน ไม่วุ่นวาย ไม่เครียดในการทำกิจกรรมการเรียนรู้ ส่งเสริมทำให้เกิดปัญญา ทำให้นักเรียนมีการพัฒนาทางด้านร่างกายจิตใจและสติปัญญาเป็นอย่างดี
๒. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ที่ได้รับการจัดการเรียนการสอนตามหลักไตรสิกขา ในสาระการเรียนรู้พระพุทธศาสนา เรื่องการสวดมนต์แปลแผ่เมตตา การบริหารจิตและเจริญปัญญา ผู้วิจัยได้ลงมือจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเอง โดยการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาก่อนเรียน-หลังเรียนมาเปรียบเทียบกัน จากกลุ่มตัวอย่างเดียวกัน ซึ่งคะแนนสอบหลังเรียนของนักเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๕
ดาวน์โหลด
|