บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ๑) ทฤษฏีและแนวคิดการพัฒนาคุณภาพชีวิต ๒) สภาพและปัญหาบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ตำบลปะโค อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี และ ๓) แนวทางการส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน ตำบลปะโค อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยการสัมภาษณ์กลุ่มเป้าหมายนำไปวิเคราะห์ประกอบ
ผลการศึกษาพบว่า คุณภาพชีวิต คือสภาวะของการมีระดับชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุข มีความพึงพอใจในชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง โดยสามารถปรับตัวให้อยู่ร่วมกับสังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีความสุข การพัฒนาคุณธรรม จริยธรรมให้แก่บุคคล จะต้องให้วิธีการเรียนรู้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ด้วยการสร้างเงื่อนไขให้บุคคลประสบด้วยตนเอง หรือการให้เป็นแบบอย่าง หรือการฝึกอบรมให้บุคคลเกิดความเชื่อ เช่น การเข้ารับการฝึกอบรมกรรมฐาน เพื่อให้บุคคลผู้นั้นได้เรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตในประสบการณ์ด้วยตนเอง และสำคัญที่สุด จริยธรรม เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวมนุษย์โดยธรรมชาติ ซึ่งจะต้องพัฒนาขึ้น โดยอาศัยกฎเกณฑ์ ความประพฤติที่ได้จากหลักการทางศีลธรรม หลักปรัชญา วัฒนธรรม กฎหมาย หรือจารีตประเพณี เพื่อประโยชน์สุขแก่ตนเองและสังคม
สภาพปัญหาและบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชน พบว่า พระสงฆ์ขาดความรู้ ความเข้าใจและข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ตามแนวทางวิถีพุทธ วิถีธรรม เศรษฐกิจแบบพอเพียง พฤติกรรมของพระสงฆ์ ที่มีความสมถะน้อยลง และประชาชนเข้าวัดน้อยลง ปัจจุบันบทบาทของพระสงฆ์ในการเข้าร่วมการพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน ลดน้อยถอยลงตามความเจริญของวิทยาการสมัยใหม่ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมและชุมชน
แนวทางการส่งเสริมบทบาทของพระสงฆ์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนตำบลปะโค อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี พบว่า ควรส่งเสริม ด้านศีลธรรม จริยธรรม สามัคคีธรรม และหลักปฏิบัติตามทางสายกลาง เพื่อนำไปสู่ความพอมีพอกินตามแนวทางวิถีพุทธ วิถีธรรม เศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมรูปแบบในการดำเนินการจัดกิจกรรม ที่พระสงฆ์ดำเนินการด้วยตนเองโดยตรง เช่น การเทศนาในวันธรรมสวนะและวันสำคัญทางพุทธศาสนาต่างๆ และอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน เช่น การจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านต่างๆ การจัดกิจกรรมเพื่อสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น การกระทำตามบทบาทดังกล่าวของพระสงฆ์ จะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุนชนในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้แนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง การจัดสภาพแวดล้อมบ้านเรือนให้สะอาด การสร้างความอบอุ่นในครอบครัว การออมเพื่ออนาคต การเสริมสร้างชุมชนปลอดอบายมุข การเสริมสร้างความสงบสุข เอื้ออารี ไม่มีการทะเลาะวิวาทบาทหมางกันภายในชุมชน และการส่งเสริมให้ประชาชนปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ของตนเอง ครอบครัว และชุมชน ให้มีความสุขทั้งกายและใจ มีงานทำ มีรายได้พออยู่พอกิน มีสภาพแวดล้อมชุมชนที่สะอาด และมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ดาวน์โหลด
|