บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาวิเคราะห์บทบาทการสังคมสงเคราะห์ของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ดังนี้คือ เพื่อศึกษาพระราชประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อศึกษาหลักการสังคมสงเคราะห์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท และเพื่อศึกษาวิเคราะห์บทบาทการสังคมสงเคราะห์ของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท ผลการศึกษาดังนี้
พระราชประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราช พบว่า พระเจ้าอโศกมหาราช ประสูติจากราชวงศ์โมริยะ เป็นพระราชโอรส ของพระเจ้าพินทุสาร กับพระนางศิริธรรมา มีพระรูปอัปลักษณ์ นิสัยโหดร้าย มีความเป็นอัจฉริยะ มีกำลังมาก ทรงจบศิลปศาสตร์ จาก เมืองตักศิลา ได้สมญานามว่า “จัณฑาโศก” ทรงนับถือพระพุทธศาสนาเพราะได้สดับพระธรรมเทศนาจาก นิโคธรสามเณร เรื่องอัปปมาทธรรม หลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงค้นพบพระสถูปอันเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ ทรงโปรดให้สร้างวิหาร ๘๔,๐๐๐ แห่ง บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ และจารึกต่างๆ ตามวิหารเหล่านั้น ทรงให้การอุปถัมภ์ การสังคายนาครั้งที่ ๓ และส่งพระธรรมฑูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังประเทศต่างๆ เสด็จสวรรคต เมื่อพระชนมายุ ๗๖ พรรษา ทรงได้รับสมัญญานามว่า “พระเจ้าธรรมาโศกราช”
หลักการสังคมสงเคราะห์ในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า การสังคมสงเคราะห์ในพระพุทธศาสนา มีหลักธรรมชื่อ สังคหวัตถุ ๔ คือ ๑. ทาน ๒. เปยยวัชชะ ๓. อัตถจริยา และ ๔. สมานัตตตา หลักธรรมในพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวข้องกับการสังคมสงเคราะห์ ประกอบด้วย จักรวรรดิธรรม ทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ พรหมวิหารธรรม สาราณียธรรม ทิศ รูปแบบและวิธีการของงานสังคมสงเคราะห์ในพุทธศาสนาเถรวาท ปรากฏในคัมภีร์ทีฆนิกาย ในกูฏทันตสูตร ได้กล่าวถึง พระเจ้ามหาวิชิตราช อันแสดงให้เห็นถึงรูปแบบของการสงเคราะห์สังคมตามแนวทางคำสอนในพระพุทธศาสนา
บทบาทการสังคมสงเคราะห์ของพระเจ้าอโศกมหาราช ที่ปรากฏในพระพุทธศาสนาเถรวาท พบว่า บทบาทการสังคมสงเคราะห์ด้านทาน ทรัพย์และอำนาจเป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์ทำความดีงามและประโยชน์สุขให้แก่ประชาชน ตลอดจนให้การอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกมหาราชทรงโปรดให้สร้างอารามวิหารไว้เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ จำนวน ๘๔,๐๐๐ แห่ง และจารึก
บทบาทการสังคมสงเคราะห์ด้านเปยยวัชชะ มีการปรารภการทำสังคายนา ครั้งที่ ๓ พระโมคคัลลีบุตรติสสะเถระเป็นประธาน ประชุมทำกันที่อโศกราม พระเจ้าอโศกมาหาราชทรงอุปถัมภ์ และปรารภการส่งพระธรรมทูตไปเผยแผ่ยังต่างประเทศ
บทบาทการสังคมสงเคราะห์ด้านอัตถจริยา ความเป็นธรรมราชาของพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงนำหลักธรรมวิชัยเป็นนโยบายการปกครองของรัฐ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยหลักเมตตาธรรมต่อทุกคน
บทบาทการสังคมสงเคราะห์ด้านสมานัตตตาทรงอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา ยึดพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ตั้งอยู่ในธรรมจักรพรรดิราช ทรงปฏิบัติบูชา “ธรรมบูชา”เป็นแบบอย่าง เลิกการถือมงคลโชคลางตื่นข่าว แต่โปรดให้นำหลักธรรมเป็นแนวทางการปฏิบัติแทน
ดาวน์โหลด
|