หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมหาจักรพันธ์ สุรเตโช (สุระโพธา)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๓ ครั้ง
วิเคราะห์คุณค่าและอิทธิพลของเวทย์มนตร์คาถาที่ปรากฏในปั๊บสา เขตพื้นที่อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง
ชื่อผู้วิจัย : พระมหาจักรพันธ์ สุรเตโช (สุระโพธา) ข้อมูลวันที่ : ๑๗/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  วิโรจน์ วิชัย
  พระครูสิริปริยัตยานุศาสก์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๒๒ มกราคม ๒๕๖๐
 
บทคัดย่อ

 

บทคัดย่อ

 

การวิจัยเรื่องวิเคราะห์คุณค่าและอิทธิพลของเวทย์มนตร์คาถาที่ปรากฏในปั๊บสาเขตพื้นที่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปางนี้ มีวัตถุประสงค์ของงานวิจัย ๓ ประการ คือ ๑. เพื่อศึกษาความเชื่อเรื่องเวทย์มนตร์คาถาในสังคมล้านนา ๒. เพื่อศึกษาเนื้อหาเวทย์มนตร์คาถาที่ปรากฏในปั๊บสาของเขตพื้นที่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ๓. เพื่อวิเคราะห์คุณค่าและอิทธิพลของเวทย์มนตร์คาถาที่ปรากฏในปั๊บสาเขตพื้นที่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง

ผลการวิจัยพบว่า  ความเชื่อเรื่องเวทย์มนตร์คาถาในสังคมล้านนานั้นมีความเชื่อ และสืบทอดกันมาหลายยุคหลายสมัย โดยเฉพาะยุครอยต่อระหว่างศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ซึ่งเป็นยุคที่ศาสนาพราหมณ์เริ่มมีบทบาทลดลง และพุทธศาสนาเข้ามาแทนแต่ก็เป็นการอิงอาศัยซึ่งกันและกันระหว่างสองศาสนาโดยเฉพาะเรื่องเวทย์มนตร์คาถา และในที่สุดมาถึงยุคมอญพม่า และล้านนาไทย ซึ่งเป็นยุคที่ดินแดนล้านนาได้รับพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมจากอินเดียโดยผ่านทางมอญและพม่านี้ ผู้คนในดินแดนที่เรียกว่าล้านนาก็รับเอาอิทธิพลของเวทย์มนตร์คาถาแบบผสมผสาน ชาวล้านนา โดยเฉพาะคนอำเภอเถิน มีความเชื่อเรื่องเวทย์มนตร์คาถาตั้งแต่โบราณพร้อมกับสังคมล้านนาส่วนใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามความเชื่อเรื่องเวทย์มนตร์คาถานี้ได้แทรกซึมไปทั่วทุกแห่งในล้านนา

เนื้อหาของเวทย์มนตร์คาถาที่ปรากฏในปั๊บสาพบว่า ปั๊บสา ๘ ฉบับของแต่ละตำบลในอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง มีเวทย์มนตร์คาถาปรากฏอยู่ คือ คาถาเมตตามหานิยม / ปิยะมหาเสน่ห์ คาถาทางโชคลาภ คาถาแคล้วคลาด / ปกป้องคุ้มภัย คาถาไสยดำ คาถาอยู่ยงคงกระพัน (ข่าม) และ ๘ ฉบับ ใน ๘ ตำบลนี้มี คาถามหานิยม / ปิยะมหาเสน่ห์ ๖ บท คาถาทางโชคลาภ ๔ บท คาถาแคล้วคลาด ๕ บท คาถาไสยดำ ๕ บท และคาถาคาถาอยู่ยงคงกระพัน (ข่าม) ๙ บท รวมทั้ง ๘ ฉบับ มีเวทย์มนตร์คาถาที่ปรากฏ ๒๙ บท

เวทย์มนตร์คาถามีคุณค่าด้านจิตใจ ในด้านของการยึดเหนี่ยวจิตใจและเป็นตัวสื่อให้คนเข้าหาธรรม คุณค่าด้านภาษาและวรรณกรรม เป็นการรักษาอักขระล้านนาไม่ให้สูญหายไป คุณค่าด้านสังคม ทำให้เห็นภาพสะท้อนของวิถีชีวิต คุณค่าด้านประวัติศาสตร์ คือ ทำให้รู้ถึงสภาพสังคมในสมัยโบราณ คุณค่าด้านเศรษฐกิจ ทำให้ผู้คนมีกำลังใจมาหากินค้าขาย และอิทธิพลต่อบุคคล ทำให้ตัวบุคคลมีความเชื่อมั่นในด้านจิตใจ อิทธิพลต่อครอบครัว ทำให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงาน อิทธิพลต่อสังคม คือ ทำให้สังคมมีกิจกรรมทางพิธีกรรมร่วมกัน อิทธิพลต่อศาสนา คือ เป็นสิ่งที่ชักจูงให้คนศรัทธาในพุทธศาสนา อิทธิพลต่อภูมิปัญญา คือ การนำเอาเวทย์มนตร์คาถาเข้าประยุกต์ใช้กับองค์ความรู้ และศาสตร์พื้นบ้านล้านนา

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕