บทคัดย่อ
งานวิจัยเรื่อง “ศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อเรื่องการเข้าทรงของชาวพุทธในเขตเทศบาลนครลำปาง” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดความเชื่อเรื่องการเข้าทรง ๒) เพื่อศึกษาแนวคิดความเชื่อการเข้าทรงในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และ ๓) เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อเรื่องการเข้าทรงของชาวพุทธในเขตเทศบาลนครลำปาง ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
แนวคิดความเชื่อเรื่องการเข้าทรง เริ่มจากความเชื่อของมนุษย์เกิดมาจากความกลัว เมื่อกลัวจึงต้องหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อยู่รอบๆ ตัวที่เชื่อว่าสิ่งที่เห็นนั้นศักดิ์สิทธิ์วิเศษกว่าตน การเข้าทรงจึงเป็นทางออกวิธีการหนึ่ง การเข้าทรงแบ่งได้ออกเป็น ๓ ประเภท คือการเข้าทรง การทรงเจ้า และการเข้าผี มีความหมายที่ไม่เหมือนกันโดยจำแนกจากการประทับร่างทรงของลำดับชั้นของเทวดา หรือผีชั้นต่ำ จุดมุ่งหมายในการมาเข้าทรงก็แตกต่างกัน ยังมีพิธีกรรมของการเข้าทรงที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของค่านิยมหรือความเชื่อมาประกอบด้วย
สำหรับแนวคิดความเชื่อการเข้าทรงตามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา พบว่า ในสมัยพุทธกาลพระพุทธองค์ทรงให้ภิกษุเว้นขาดมิให้กระทำเป็นร่างทรงหรือคนทรงเจ้าเนื่องจากเป็นการเลี้ยงชีพโดยทางผิดเพราะเป็นเดรัจฉานวิชา ซึ่งไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องในการบรรลุมรรคผลนิพพาน หลักธรรมทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่องการเข้าทรงของชาวพุทธ พบว่า หลักศรัทธา ๔ การเชื่อเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อผลของกรรม เชื่อความที่สัตว์มีกรรมเป็นของของตนและเชื่อว่าพระตถาคตว่าทรงเป็นพระสัมมา หลักโยนิ (กำเนิด) ๔ เป็นการจำแนกสัตว์ตามลักษณะการเกิด ๔ ประเภท ภูมิ ๔ คือ กามาวจรภูมิ รูปาวจรภูมิอรูปาวจรภูมิ โลกุตตรภูมิภูมิ เป็นสถานที่ซึ่งสรรพสัตว์ทั้งหลายจะต้องไปตามบุญกรรม
ผลการศึกษาวิเคราะห์ความเชื่อเรื่องการเข้าทรงของชาวพุทธในเขตเทศบาลนครลำปาง พบว่า ชาวพุทธในเขตเทศบาลนครลำปาง มีความเชื่อเรื่องการเข้าทรงว่า ร่างทรง คือ ตัวแทนของผู้เทพผู้มีอำนาจมีอิทธิฤทธิ์สามารถดลบันดาลสิ่งต่าง ๆ ตามที่ร้องขอ บันดาลโชคลาภ และเชื่อว่าเจ้าทรงสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆให้หายได้ คุณค่าของการเข้าทรงมีคุณค่าด้วยกัน ๔ ด้านคือ ด้านประเพณีและวัฒนธรรม ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านการเมือง
ดาวน์โหลด |