บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ดังนี้ ๑) เพื่อศึกษาประวัติและลักษณะทางประชากรของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สวรรค์หลวง ๒) เพื่อศึกษาบริบทการดำเนินชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สวรรค์หลวง และ ๓) เพื่อวิเคราะห์พุทธจริยธรรมในการดำเนินชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สวรรค์หลวง อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ทำการศึกษาการดำเนินชีวิตของชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่ปรากฏในประเพณีต่างๆ ผลการศึกษาพบว่า
ประวัติและลักษณะทางประชากรของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สวรรค์หลวง บ้านแม่สวรรค์หลวงมีจำนวนประชากร ๑๕๒ หลังคาเรือน มีจำนวนประชากรทั้งหมด ๗๑๐ คน แยกเป็นจำนวนประชากรชาย ๓๑๗ คน จำนวนประชากรหญิง ๓๐๓ คน มีการนับถือพุทธศาสนา ๒๑๐ คน กะเหรี่ยง สะกอหรือปกาเกอะญอ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดอาศัยอยู่ทางภาคเหนือตอนบนและในภาคเหนือตอนล่างมีจังหวัด ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย กาญจนบุรี ราชบุรี เรียกตนเองว่าปกาเกอะญอ บริบทการดำเนินชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สวรรค์หลวง การดำเนินชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สวรรค์หลวง ประกอบอาชีพเกษตรทำไร่หมุนเวียนเลี้ยงสัตว์ และหาของป่าเป็นหลัก วิถีชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีการผสมผสานระหว่างความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อสมัยใหม่ ให้ความสำคัญกับผีดีและผีร้าย โดยมีความเชื่อว่า วิญญาณที่เป็นบรรพบุรุษของตนประกอบไปด้วย ปู่ ย่า ตา ยายและพ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้วนั้น ดวงวิญญาณของท่านเหล่านั้นจะคอยปกป้องรักษาคุ้มครองลูกหลาน ซึ่งเป็นอนุชนรุ่นหลัง ให้มีความผาสุกดังนั้นชาติพันธุ์กะเหรี่ยงทุกครอบครัว จึงมีหิ้งบูชาผีบรรพบุรุษไว้ประจำบ้านของตน เพื่อจะได้บูชาและเซ่นไหว้บวงสรวงผีบรรพบุรุษในวันสำคัญของประเพณีในรอบปีของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง วิเคราะห์พุทธจริยธรรมในการดำเนินชีวิตของชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สวรรค์หลวงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่รักความสงบ และความสันโดษ โดยการยึดหลักการดำเนินชีวิตแบบยังชีพที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ หลักพุทธจริยธรรมในการดำเนินชีวิตใช้หลักอิทธิบาท ๔ คือ ฉันทะ ซึ่งถือเป็นหลักที่ชาติพันธุ์กะเหรี่ยงบ้านแม่สวรรค์หลวงที่ยึดถือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกัน นับตั้งแต่เริ่มเลือกพื้นที่และป่าเพื่อที่จะทำไร่ปลูกข้าว วิริยะ ความขยันหมั่นเพียรแผ้วถากป่าเพื่อทำมาหากิน เลี้ยงชีพ เพื่อความสุขของครอบครัวและตนเอง จิตตะ เอาความตั้งใจในการคัดเลือกพื้นที่ ดินที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกและไม่ขัดกับเขตป่าที่หวงแหนตามประเพณี วิมังสา ใช้ปัญญาสอบสวน คือ หมั่นใช้สติปัญญาพิจารณาใคร่ครวญ การเลือกพันธุ์ข้าวและพืชผักต่าง ๆ ที่ปลูกในไร่หมุนเวียน หลักพุทธจริยธรรมในการประกอบอาชีพ ทิฏฐธัมมิกัตถประโยชน์ ประโยชน์ในปัจจุบัน ๔ อย่าง คือ ๑.อุฏฐานสัมปทา ถึงพร้อมด้วยความหมั่น การเลี้ยงสัตว์ ทำไร่หมุนเวียน ปลูกข้าว จักสานหาของป่า และทอผ้าเลี้ยงชีพ ๒.อารักขสัมปทา ถึงพร้อมด้วยการรักษา รักษามรดกที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษไม่ให้สูญหายในการประกอบอาชีพต่างๆ ๓.กัลยาณมิตตตา คบหาคนดีเป็นมิตร ลงแขกปลูกข้าวไร่ เกี่ยวข้าวไร่ และเอาแรงงานกันเป็นต้น ๔.สมชีวิตตา เลี้ยงชีพพอดี ประกอบอาชีพแบบยังชีพ พอมีพอกิน ด้วยชื่อสัตย์สุจริตไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน หลักพุทธจริยธรรมในประเพณี และวัฒนธรรม ความกตัญญูกตเวที เป็นการแสดงออกเพื่อเป็นการบูชาความดี หลักของความกตัญญูสังคมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มีความสัมพันธ์ทางจารีตประเพณีและทางครอบครัวเป็นระบบของเครือญาติมีการนับถือกันเป็นญาติพี่น้องที่ได้สืบต่อกันมา เป็นกลุ่มสังคมหนึ่งมีทั้งเครือญาติฝ่ายชายและฝ่ายหญิง ประเพณีเลี้ยงผีบ้าน ผีเรือน แม้จะอยู่บ้านไหน เมืองไหนชาติพันธุ์กะเหรี่ยงให้ความเคารพนับถือเป็นหมู่ของเครือญาติ ทุกปีจะมีญาติต่างหมู่บ้านมารวมประเพณีผูกมือมิได้ขาด เพราะชาติพันธุ์กะเหรี่ยงมีความสัมพันธ์ต่อกลุ่มชาติพันธุ์ของตนทั้งในระบบความเชื่อ ทางประเพณี พิธีกรรม วัฒนธรรม ของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง
ดาวน์โหลด |