บทคัดย่อ
การศึกษาวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดทฤษฎีการพัฒนาชีวิต ๒) เพื่อศึกษาอิทธิบาท ๔ กับการพัฒนาชีวิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์ การพัฒนาชีวิตด้วยอิทธิบาท ๔ ของพระมหาชนก
ผลการวิจัยพบว่า
ข้อ ๑) การพัฒนาชีวิตให้มีความเจริญก้าวหน้านั้น ในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาตนเองให้มีความเจริญก้าวหน้าอยู่ ๔ ประการ ได้แก่ (๑) การพัฒนาทางด้านบุคลิกหรือร่างกาย คือ สำรวมกายให้เรียบร้อย ไม่ประพฤติชั่วทางกาย หรือไม่นำกาย ไปสร้างอกุศล, ประพฤติแต่สิ่งที่เป็นกุศล (๒) การพัฒนาทางด้านความประพฤติ คือ ประพฤติตนให้อยู่ในกรอบหรือเรียกว่า วินัย อันได้แก่การรักษาศีล ป้องกันตนไม่ให้ประพฤติชั่ว (๓) การพัฒนาทางด้านจิตใจ คือ รักษาใจให้อยู่ในความตั้งมั่น หรือเรียกว่าตั้งอยู่ในสมาธิ จิตไม่กระสับกระส่าย จิตมีความแน่วแน่ (๔) การพัฒนาทางด้านปัญญา คือ การพัฒนาทางด้านความคิดให้รู้เท่าทันธรรมชาติ เมื่อเราสามารถพัฒนาครบทั้ง ๔ ด้าน ผลที่ตามมาก็คือ ความสงบสุข หรือเรียกว่า “นิพพาน”
ข้อ ๒) การที่จะดำรงชีวิต รวมถึงการทำหน้าที่การงานของตนเอง ให้ถึงจุดมุ่งหมายที่ตนเองได้ตั้งใจไว้นั้น พระพุทธองค์ได้ตรัสหลักธรรมไว้ ๔ ข้อ ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้ทุกที่ ทุกเวลา ทุกสมัย ไม่มีความล้าสมัย หลักธรรมที่ว่านี้ คือ อิทธิบาท ๔ ได้แก่ (๑) ฉันทะ มีใจรัก (เต็มใจทำ) (๒) วิริยะ พยายามทำ (แข็งใจทำ) (๓) จิตตะ มีใจฝักใฝ่ไม่ทอดทิ้งธุระ (ตั้งใจทำ) (๔) วิมังสา ใช้ปัญญาพิจารณาตริตรอง (เข้าใจทำ) เมื่อประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมทั้ง ๔ ข้อที่ได้กล่าวมานี้ ย่อมทำให้ชีวิตถึงจุดมุ่งหมาย และเมื่อดำเนินชีวิตตามหลักอิทธิบาท ๔ เป็นประจำ ย่อมส่งผลให้มี อายุยืน
ข้อ ๓) พระมหาชนกได้พัฒนาชีวิตด้วยการเจริญตามหลักอิทธิบาท ครบทั้ง ๔ ข้อ ได้แก่ (๑) ท่านเจริญตามหลักฉันทะ คือ มีความพอใจในชาติตระกูลของตนเอง (ตระกูลกษัตริย์) (๒) ท่านเจริญตามหลักวิริยะ คือ มีความพยายามที่จะไปยึดราชสมบัติของพระบิดาคืน จนตัดสินใจออกเดินเรือไปค้าขาย จนได้รับอุบัติเหตุเรือล่ม ทำให้ต้องว่ายน้ำตลอดเวลา ๗ วัน จนมีเทวดา มาช่วย (๓) ท่านเจริญตามหลักจิตตะ คือ พระมหาชนกนั้นมีใจที่ตั้งมั่น ไม่หดหู่ท้อถอย เห็นได้จากตอนที่เรือล่ม ท่านว่ายน้ำอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร ถึงจะไม่เห็นฝั่งก็ยังว่ายต่อไป เพราะใจที่ตั้งมั่นนั่นเอง (๔) เจริญตามหลักวิมังสา คือ ท่านได้ใช้ปัญญาตริตรองกับการทำงานด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นตอน เรือล่ม หรือตอนที่ไปแก้ปัญหาด้วยปัญญาอันชาญฉลาด จนทำให้นางสีวลีพอใจและยอมรับ จนได้ปกครองบ้านเมือง
ดาวน์โหลด |