วิทยานิพนธ์นี้มุ่งศึกษาหลักสัมมาอาชีวะในพระพุทธศาสนา เกี่ยวกับความหมายหลักการ เป้าหมายของสัมมาอาชีวะ และความสัมพันธ์กับหลักธรรมอื่น รวมถึงแนวทางปฏิบัติตามหลักสัมมาอาชีวะที่ถูกต้อง และคุณค่าทางจริยธรรมด้านต่าง ๆ ของสัมมาอาชีวะโดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องจากการศึกษาพบว่า สัมมาอาชีวะเป็นมรรคปฏิบัติที่สำคัญข้อหนึ่งในมรรคมีองค์๘ และเป็นมรรคปฏิบัติด้านศีลสิกขาเกื้อหนุนให้กระบวนการดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างพอดีและสมดุลหลักการของสัมมาอาชีวะหรือการเลี้ยงชีพชอบตามหลักพระพุทธศาสนาจะครอบคลุมกระบวนการดำเนินชีวิต ทั้งทางกาย ทางวาจา และทางใจ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่
ความสุขหรือประโยชน์ทั้งสามด้าน คือ ประโยชน์ตน (อัตตประโยชน์) ประโยชน์ผู้อื่น(ปรัตถประโยชน์) และประโยชน์ทั้งสองฝ่าย (อุภยัตถประโยชน์)ในกระบวนการดำเนินชีวิตตามหลักสัมมาอาชีวะเพื่อนำไปสู่ประโยชน์ทั้งสามด้าน จะต้องเกี่ยวเนื่องและสัมพันธ์กับหลักธรรมอื่นที่เกื้อหนุนกันได้แก่ อริยมรรคมีองค์๘ อริยทรัพย์ ๗ อิทธิบาท ๔ ศีล ๕ สุจริต ๓ ทิฏฐธัมมิกัตถะประโยชน์ กุลจิรัฏฐิติธรรม ๕ และหลักธรรมที่ส่งเสริมให้ชีวิตเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าได้แก่ สังคหวัตถุ ๔ พรหมวิหาร ๔ ฆราวาสธรรม ๔ สัปปุริสธรรม ๗ ความสันโดษ และอคติ ๔
การดำเนินชีวิตตามหลักสัมมาอาชีวะในทางพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย ๑)การแสวงหาเลี้ยงชีพในทางที่ชอบทั้งทางกายและทางวาจา ถูกต้องทั้งด้านกฎหมายและศีลธรรม ๒) การครอบครองรักษาที่ดี ตามหลักการออมทรัพย์ทางพระพุทธศาสนาหรือหลักโภควิภาค ๔ ได้แก่ ทรัพย์หนึ่งส่วน ( ๒๕ %) ออมไว้ใช้สอยเลี้ยงชีพ ทรัพย์สองส่วน(๕๐%) ออมไว้ประกอบอาชีพและทรัพย์อีกหนึ่งส่วน ( ๒๕ %) ออมไว้ในยามจำเป็นและใช้ทำบุญ ๓) การบริโภคใช้จ่ายอย่างถูกต้อง เหมาะสมและพอเพียง โดยให้ความสำคัญด้านคุณค่ามากกว่ามูลค่า และเน้นคุณประโยชน์มากกว่าความคุ้มทุน และมีจุดมุ่งหมายเพื่อประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเอง แก่ผู้อื่นและแก่สังคม
สัมมาอาชีวะเป็นหลักการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าทางจริยธรรมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของบุคคลทั้งทางกาย ทางวาจา ทางจิตใจ อีกทั้งเกิดคุณค่าต่อการพัฒนาปัญญาให้รู้จักคิดอย่างมีเหตุผลในการดำเนินชีวิต และยังมีคุณค่าต่อการเกื้อหนุนให้เกิดบุญกิริยามากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การดำเนินชีวิตตามหลักสัมมาอาชีวะยังมีคุณค่าทางจริธรรมต่อการเกื้อหนุนและส่งเสริม การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อื่น และมีคุณค่าต่อการพัฒนาสังคม
ส่วนรวมทั้งด้านการปกครอง การเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนเกื้อหนุนการพัฒนาระบบจริยธรรมทางสังคมด้านอื่น ๆ ให้เข้มแข็งและมั่นคงยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายที่ ก่อให้เกิดความสุขมวลรวมของคนในสังคมมากยิ่งขึ้น
Download : 255161.pdf
|