บทคัดย่อ
งานวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนา ๒) เพื่อศึกษาการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ในเขตตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก ๓) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ตามแนวพระพุทธศาสนาในเขตตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยวิธีการศึกษาจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และวิจัยภาคสนาม โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกจากกลุ่มประชากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก จำนวน ๑๔ รูป/คน
ผลการวิจัยพบว่า
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนานั้น คือ การพัฒนาชีวิตให้ดำเนินไปอย่างถูกต้อง เป็นธรรมอยู่ในตัววิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงามนั้น เราเรียกกันว่า มรรค เป็นของคู่กันกับหลักการอีกอย่างหนึ่ง คือ ไตรสิกขา คือ ต้องมีการฝึกฝนหรือฝึกหัด เพราะฉะนั้น การศึกษา ก็คือ การฝึกฝนให้ชีวิตดำเนินไปในวิถีที่ถูกต้องดีงาม การพัฒนาคุณภาพชีวิต ของผู้สูงอายุตามหลัก ของภาวนา ๔ คือ (๑) กายภาวนา พัฒนากายหรือการฝึกอบรมกาย คือ การมีความสัมพันธ์ ที่เกื้อกูลกับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (๒) ศีลภาวนา การพัฒนาความประพฤติหรือการฝึกอบรมศีล คือ การความสัมพันธ์ที่เกื้อกูล กับสิ่งแวดล้อมทางสังคม (๓) จิตตภาวนา การพัฒนาจิตหรือการฝึกอบรมจิตใจ คือ การทำจิตใจให้เจริญงอกงามขึ้น ในคุณธรรมความดีงาม ความเข้มแข็งมั่นคง และความเบิกบานผ่องใส (๔) ปัญญาภาวนา การพัฒนาปัญญาหรือการฝึกอบรมปัญญา คือ การเสริมสร้างความรู้ความคิดความเข้าใจ และการหยั่งรู้ความจริงให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามเป็นจริง เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามสภาวะหรือตามที่มันเป็นไป
การพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในเขตตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก พบว่า มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการดำเนินตามนโยบายของตำบลที่มีการจัดการด้วยการจัดชุดกิจกรรมต่างๆ มีความพยายามจะทำให้ครบทุกด้านเพื่อให้ได้ผลแบบองค์รวม เป็นคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์และมีคุณภาพ เช่น โครงการโรงเรียนผู้สูงอายุ กิจกรรมการเข้าวัดทำบุญ กิจกรรมการส่งเสริมการประกอบอาชีพ เป็นต้น แต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ผลสัมฤทธิ์เต็มประสิทธิภาพ เพราะบางกิจกรรมไม่เหมาะกับบริบทของชุมชน และไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้สูงอายุ จึงมีการเพิ่มกระบวนการจัดกิจกรรมบางอย่างในเชิงพุทธเพิ่มเข้าไป ให้มากขึ้น เพื่อให้เกิดคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม ทั้งทางด้านกาย สังคม จิต และปัญญา
กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุตามแนวพระพุทธศาสนา ในเขตตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก พบว่า การดำเนินนโยบายจะต้องทำแบบการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายทั้งชุมชนคือ บ้าน วัด และหน่วยงานรัฐ โดยมีขั้นตอนการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยการใช้การจัดกิจกรรมหลัก กิจกรรมเสริม บูรณาการเข้ากับหลักธรรมและหลักปฏิบัติทางพระพุทธศาสนาโดยคำนึงถึงเงื่อนไขปัจจัย คือความต้องการของผู้สูงอายุ และการสนองความต้องการของผู้สูงอายุ นำไปสู่การกำหนดกิจกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแนวพระพุทธศาสนา โดยยึดหลักภาวนา ๔ คือ กายภาวนา ศีลภาวนา จิตตภาวนา และปัญญาภาวนา เพื่อทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบองค์รวม
ดาวน์โหลด
|