หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ปรัชญา สะท้านพายัพ
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๖ ครั้ง
การวิเคราะห์เปรียบเทียบปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ในพระวินัยปิฎกกับความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา
ชื่อผู้วิจัย : ปรัชญา สะท้านพายัพ ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูประวิตรวรานุยุต
  พูนชัย ปันธิยะ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

 

 

 

การวิเคราะห์เปรียบเทียบปาราชิกสิกขาบทที่ ๓  ในพระวินัยปิฎกกับความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญานั้นจากการศึกษาพบว่ามี ๒ ส่วนคือ พระบัญญัติครั้งแรกเรียก “มูลบัญญัติ” แยกออกเป็น ๒ ส่วนคือ๑) ส่วนที่เป็นการพรากกายมนุษย์จากชีวิต๒) ส่วนที่เป็นการแสวงหาศัสตราอันจะพรากกายมนุษย์จากชีวิตและอนุบัญญัติที่เพิ่มเติมในภายหลังพระบัญญัติ ๒ ส่วนย่อยแรกเพื่อทำให้เกิดความรอบคอบรัดกุม แม้การกล่าวพรรณนาความตายหรือชักชวนเพื่อความตายโดยประการต่างๆ หากภิกษุกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งคือการฆ่าเตรียมการฆ่าและการกล่าวพรรณนาชักชวนเพื่อความตายต้องปาราชิกส่วนความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญามี ๖ ฐานความผิดคือ ๑) ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา๒) ฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา ๓) ประมาททำให้คนตาย ๔) ปฏิบัติทารุณแก่ผู้อื่นเพื่อให้ฆ่าตนเอง ๕) ช่วยหรือยุยงเด็กหรือผู้อื่นให้ฆ่าตนเอง และ ๖) ร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีคนตาย

พระบัญญัติส่วนย่อยที่ ๑การพรากกายมนุษย์จากชีวิต เปรียบเทียบกับความผิดต่อชีวิตฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยเปรียบเทียบองค์ประกอบของความผิดอาญา ๕ ด้าน พบว่ามีองค์ประกอบที่เหมือนกัน ๔ ด้าน คือ ๑) ด้านเนื้อหาของพระบัญญัติ  ๒) ด้านองค์ประกอบภายนอก
๓)องค์ประกอบภายในและ ๔) ผลของการกระทำส่วนองค์ประกอบที่ ๕ ต่างกัน คือ โทษที่จะได้รับพระบัญญัติส่วนย่อยที่ ๒แสวงหาศัสตราอันจะพรากกายมนุษย์เปรียบเทียบกับความผิดต่อชีวิตฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา โดยเปรียบเทียบองค์ประกอบของความผิดอาญา ๕ ด้าน พบว่ามีองค์ประกอบเหมือนกันเพียง ๑ ด้าน คือ องค์ประกอบภายใน ส่วนอีก ๔ ด้าน จะต่างกันและพระอนุบัญญัติการกล่าวพรรณนาคุณความตายหรือชักชวนเพื่อความตายโดยประการต่างๆ เปรียบเทียบกับความผิดต่อชีวิตฐานช่วยหรือยุยงเด็กหรือผู้อื่นให้ฆ่าตนเองโดยเปรียบเทียบองค์ประกอบของความผิดอาญา ๕ ด้านพบว่าเหมือนกัน ๔ ด้าน อีกด้านหนึ่งจะต่างกันคือโทษที่จะได้รับ

ปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ทั้งพระบัญญัติ และอนุบัญญัติ จึงเปรียบเทียบกับความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญา ได้เพียง ๒ ฐานความผิดเท่านั้น คือ ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา  ๑ และช่วยหรือยุยงเด็กหรือผู้อื่นให้ฆ่าตนเอง ๑ และอีก ๔ ฐานความผิดสามารถเปรียบเทียบได้ในวินีตวัตถุคือเรื่องที่พระพุทธองค์ทรงวินิจฉัยแล้ว ๑๐๓ เรื่อง เมื่อนำฐานความผิดต่อชีวิตตามประมวลกฎหมายอาญาทั้งหมด ๖ ฐานไปวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วยพบว่า ๑) ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ๕๕ เรื่อง     ๒) ความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยไม่เจตนา ๑ เรื่อง ๓) ความผิดฐานประมาททำให้คนตาย ๒๐ เรื่อง๔) ปฏิบัติทารุณแก่ผู้อื่นเพื่อให้ฆ่าตนเอง(ไม่มี) ๕) ช่วยหรือยุยงเด็กหรือผู้อื่นให้ฆ่าตนเอง ๒ เรื่อง   ๖)ร่วมในการชุลมุนต่อสู้และมีคนตาย(ไม่มี) ๗) ฐานความผิดนอกหมวดความผิดต่อชีวิตคือหมวดความผิดฐานทำให้หญิงแท้งลูก ๗ เรื่อง และ ๘) ไม่ผิดอาญาฐานใดเลย ๑๘ เรื่อง รวม ๑๐๓ เรื่องผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบพบว่า๑) เป็นความผิดต่อชีวิต(รวมทั้งความผิดอาญาอื่นนอกหมวด)๘๕ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๘๒.๕๐ และ ๒) ไม่เป็นความผิดอาญาฐานใดเลย ๑๘ เรื่อง คิดเป็นร้อยละ ๑๗.๕๐

ผลการวิเคราะห์สรุปได้ว่าปาราชิกสิกขาบทที่ ๓ ในพระวินัยปิฎกยังบังคับใช้ในสังคมสงฆ์ไทยปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้จะล่วงเวลา ๒,๖๐๐ ปีแล้วก็ตาม

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕