บทคัดย่อ
ในปัจจุบันความเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม (วิบากกรรม) ทางพระพุทธศาสนา ถูกมองข้ามจากสังคมสมัยใหม่ การศึกษาหลักธรรมและปฏิบัติตามหลักพุทธธรรมขององค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าน้อยลง อาจด้วยปัจจัยหลาย ๆ ประการ ไม่ว่าจะเป็นสภาพสังคมที่เร่งรีบ สังคมที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แม้กระทั่งการดำรงชีวิตเพื่อให้อยู่รอดในสังคม ทำให้คนในสังคม เริ่มห่างไกลจากพระพุทธศาสนา ผู้วิจัยเห็นว่าการศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาล้านนา เรื่องมหาวิบาก จะเป็นการขยายความของหลักธรรมที่ถ่ายทอดผ่านวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนา ตลอดถึงคุณค่าของวรรณกรรมที่มีต่อสังคม โดยสามารถนำหลักธรรมมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตตามสภาพสังคมในปัจจุบันได้
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ (๑). เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมา และความสำคัญของวรรณกรรมพระพุทธศาสนาล้านนา เรื่องมหาวิบาก (๒). เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในวรรณกรรมพระพุทธศาสนาล้านนา เรื่องมหาวิบาก (๓). เพื่อศึกษาคุณค่าของวรรณกรรมพระพุทธศาสนาล้านนา เรื่องมหาวิบาก การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยในเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) โดยศึกษาในเอกสารและการศึกษาภาคสนาม เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview)
ผลจากการวิจัยพบว่าวรรณกรรมพระพุทธศาสนาล้านนา เรื่องมหาวิบาก หรือธรรม มหาวิบาก เป็นวรรณกรรมท้องถิ่นทางพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาของนักปราชญ์ ทางพระพุทธศาสนา มีการแต่งวรรณกรรมที่มุ่งเน้นด้านหลักธรรม ความเชื่อ และความศรัทธา ในพระพุทธศาสนา โดยผสมผสานกับการดำเนินชีวิตของคนในท้องถิ่นล้านนา ที่มีความเกรงกลัว ต่อบาปอกุศลต่างๆ เพราะพระพุทธศาสนาได้ซึมซับอยู่ในวิถีชีวิตของสังคมล้านนามาเป็นระยะเวลา ที่ยาวนาน และพระพุทธศาสนายังเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่พึ่งทางใจ พุทธศาสนาจึงก่อกำเนิดความศรัทธา จนสร้างแรงบันดาลใจนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงานทางด้านวรรณกรรมทางพุทธศาสนา อาจกล่าวได้ว่าวรรณกรรมเรื่องมหาวิบากนี้ ได้มีส่วนสำคัญในการถ่ายทอดหลักคำสอนและแนวทางประพฤติปฏิบัติตามหลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา มีพระสงฆ์เป็นผู้ถ่ายทอดผ่านทางวรรณกรรม นำไปสู่ความเชื่อที่สร้างสรรค์สังคมให้เรียนรู้เรื่องกรรม ผลของกรรม หรือวิบาก การประพฤติปฏิบัติตนตามกรอบของศีลธรรม การแสดงออกถึงความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ โดยผ่านทำนองการเทศน์ในรูปแบบธรรมวัตร
หลักธรรมที่ปรากฏในธรรมมหาวิบากของชาวล้านนาได้ใช้เป็นกรอบจริยธรรมในการดำเนินชีวิต พบว่า มีหลักธรรม ๔ ประการ คือ การให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และหลักของไตรสิกขา ประกอบด้วย ศีล สมาธิและปัญญา ธรรมมหาวิบากจึงเป็นการสื่อสารด้านศีลธรรม จริยธรรมระดับชาวบ้าน ภาษาที่ใช้ก็เป็นภาษาท้องถิ่น ทำให้ผู้ฟังสามารถเข้าใจในหลักธรรมโดยถ่องแท้ ลึกซึ้ง และเข้าใจถึงธรรมที่เป็นธรรมชาติว่าทำอย่างไรก็ได้อย่างนั้น แม้กรรมนั้นจะไม่ได้ให้ผลในทันทีทันใด แต่วิบากกรรมนั้นย่อมติดตามไปในทุกภพทุกชาติ ตราบใดที่มนุษย์ยังคงวนเวียนอยู่ในวัฏฏสงสาร
คุณค่าของวรรณกรรมพระพุทธศาสนาล้านนา เรื่องมหาวิบากที่มีต่อคนในสังคมล้านนา พบว่าธรรมมหาวิบากมีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของชาวล้านนาในช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต หรือผู้ป่วยหนัก หากมีการนิมนต์พระมาเทศน์ แสดงว่าบุคคลนั้นก็จะไม่พ้นความตาย ทำให้คนในสังคมได้เรียนรู้ถึงสัจจะธรรมของชีวิต และจะต้องดำรงตนอยู่ในความไม่ประมาท ความเชื่อเหล่านี้ได้ ฝังรากรึกอยู่ในสังคมล้านนา ความเชื่อ ความศรัทธาของประชาชนในธรรมเรื่องมหาวิบาก นอกจากจะเป็นการสืบทอดหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาผ่านวรรณกรรมท้องถิ่นแล้ว ยังทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความเกรงกลัวในบาปอกุศลต่าง ๆ
ดาวน์โหลด
|