หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » อรศิริ คำวันสา
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์คุณโทษ และทางออกจากกามในคัมภีร์ พระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : อรศิริ คำวันสา ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  แม่ชีกฤษณา รักษาโฉม
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์เรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์คุณ โทษ และทางออกจากกามในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท”  มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) เพื่อศึกษาเรื่องกามที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา (๒) เพื่อศึกษาคุณ โทษ และทางออกจากกาม และ (๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์คุณ โทษ และทางออกจากกามตามทัศนะของนักวิชาการทางพระพุทธศาสนา

การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยคุณภาพและเชิงเอกสาร โดยศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลจากคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา และสัมภาษณ์นักวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ผลการวิจัยพบว่า กาม คือความอยาก ความต้องการ ความปรารถนาความใคร่ กามเกิดจากการที่จิตมีกิเลส เช่น ตัณหา ราคะ เป็นต้น หรือเกิดจากความยึดถือของมนุษย์ ประเภทของกามมี ๒ อย่าง คือ  (๑) กิเลสกาม กิเลสที่ทำให้ใคร่ ได้แก่ ราคะ โลภะ อิจฉา (ความอยากได้) เป็นต้น  (๒) วัตถุกาม วัตถุอันน่าใคร่ ได้แก่ กามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย) ที่น่าใคร่น่าพอใจ พระพุทธศาสนามองว่า กามมีความสุขก็จริงแต่ยังปะปนไปด้วยทุกข์ เพราะมีความสุขอย่างอื่นที่มีความสุขประณีตลึกซึ้งยิ่งกว่าความสุขที่เนื่องด้วยกาม

 

กามมีคุณที่เรียกว่า “กามสุข (อัสสาทะ)” คือสุขทางประสาทสัมผัสทั้ง ๕ จัดเป็น “ข้อดี” เพราะทำให้หวานชื่น น่าสนุก น่ารักใคร่ น่าพอใจ น่าปรารถนายิ่งนักมีตัวอย่างคือคฤหัสถ์ผู้บริโภคกาม หรือคนครองเรือน (กามโภคีบุคคล) ซึ่งมีอยู่ถึง ๑๐ จำพวก เช่น บุคคลบางคนที่ได้กามสุขมาแล้วก็บำรุงตนให้เป็นสุขและแจกจ่ายทำบุญ เป็นต้น ส่วนกามที่มีโทษเรียกว่า “ข้อเสีย” หรือ “โทษ (กามาทีนพ)” คือ มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันร้อนแรง เพราะเมื่อหลงติดในกามแล้วย่อมนำความลำบากเดือดร้อนมาให้ ทำให้ลุ่มหลงตกเป็นทาส ก่อให้เกิดความอิจฉาริษยา ทะเลาะวิวาทเบียดเบียนกัน อย่างเช่น พ่อแม่ทะเลาะกับลูก  ลูกก็ทะเลาะกับพ่อแม่  พี่น้องทะเลาะกัน หรือเพื่อนทะเลาะเพื่อน เป็นต้น เพื่อแย่งชิงให้ได้มาซึ่งกามวัตถุในรูปของทรัพย์สินต่างๆ  จนในที่สุดถึงกับฆ่ากันถึงตาย หรือไม่ก็ทำการทุจริตต่างๆ หรือถูกจับได้ก็ถูกนำไปลงโทษทัณฑ์ต่างๆ เพราะกามเป็นเหตุ และทางออกจากกาม พุทธศาสนามองว่า ผู้ปรารถนาความสุขเหนือกาม (โลกุตตรสุข) ควรวางตนให้ห่างไกลจากกาม หรือถ้าประสงค์ออกจากกาม มีทางออกดังนี้คือ  ทางออกที่ ๑ การพรรณนาถึงโทษแห่งกามและพรรณนาถึงอานิสงส์แห่งเนกขัมมะ (การออกบวช) ทางออกที่ ๒ การแก้กามด้วยโยนิโสมนสิการในอสุภนิมิต  ทางออกที่ ๓ การเจริญสมถกรรมฐานจนได้เอกัคคตาอันเป็นองค์ประกอบแห่งรูปฌาน ๔  และทางออกที่ ๔ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ประการ  

 

 

นักวิชาการทางพระพุทธศาสนาได้ให้ทัศนะเกี่ยวกับเรื่องกามไม่ได้แตกต่างไปจากคัมภีร์พระพุทธศาสนา แต่อาจมีทัศนะร่วมสมัยว่า พระพุทธศาสนาสอนให้ละเลิกการเกี่ยวข้องกับกามคุณ แต่ถ้ายังละไม่ได้ก็ต้องวางท่าทีต่อกามคุณให้ถูกต้อง อย่าตกเป็นทาสของกามคุณ โดยเฉพาะผู้ที่ประสงค์ออกจากกามมิใช่เพราะกามไม่มีความสุข  แต่ที่ออกจากกามหรือละกาม ก็เพราะเห็นว่ากามมีความสุขก็จริง  แต่ยังปะปนด้วยทุกข์มาก  ที่สำคัญก็คือยังมีความสุขอย่างอื่นที่สุขกว่า ลึกซึ้งประณีตกว่าสุขที่เกิดจากกามอย่างสามัญชน

 กามมีอิทธิพลในเชิงบวกคือทำให้โลกนี้ศิวิไล น่าดูน่าชม น่ารื่นรมย์ อย่างที่เห็นความสวยสดงดงามวิจิตรตระการตาในปัจจุบัน ในเชิงลบก่อให้เกิดปัญหาบริโภคนิยมคนติดหลงใหลคลั่งใคร่จนต้องแสวงหามาเพื่อสนองความอยาก เกิดปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความขัดแย้ง และปัญหาความรุนแรงทางเพศ เป็นต้น ทางออกจากกามในสังคม อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องควบคุม หากไม่ควบคุมจะก่อความเสียต่อสังคม เพราะเมื่อไรที่กามแสดงตัวตนออกมาทางกาย ทางวาจา ก็กลายเป็นกิเลสอย่างหยาบ ทำให้เกิดความสับสนวุ่นวาย มีความอยากได้ใคร่ดีไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้คนนั้นทะเยอทะยานสรรหาสิ่งบำรุงบำเรอความสุขให้แก่ตน หากแสวงหามาไม่ได้ดังใจที่ถูกกามครอบงำอยู่ก็ต้องหาวิธีการใหม่ว่าจะผิดหรือถูกต้องก็ตาม การฝึกสติหรือเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ทำให้เกิดปัญญามองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างว่า อะไรเป็นคุณ เป็นโทษ ประโยชน์ และมิใช่ประโยชน์ สามารถใช้ได้ทุกสถานการณ์ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด โดยเฉพาะเมื่อกามเกิดขึ้นเมื่อไร ที่ไหน อย่างไร จะเป็นที่ห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ที่ไม่คาดคิดว่าจะต้องไป เช่น แหล่งอบายมุข เป็นต้น เพียงมีสติเท่าทันทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ สามารถระงับก็ได้ บังคับก็ได้ หยุดมันเสียก็ได้ด้วยสติ และสามารถแก้ปัญหาหรือหาทางออกได้โดยปลอดภัย

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕