บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์ฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาเรื่อง พญานาคในอุรังคธาตุนิทานโดยได้กำหนดวัตถุประสงค์ในการวิจัยไว้ ๓ ประเด็น คือ (๑) เพื่อศึกษาแนวคิดเรื่องพญานาคในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาประวัติความเป็นมาของอุรังคธาตุนิทานและพญานาคในอุรังคธาตุนิทาน(๓) เพื่อศึกษาอิทธิพลความเชื่อเรื่องพญานาคปรากฎในอุรังคธาตุนิทาน
ผลการวิจัยพบว่า พญานาคในทางพระพุทธศาสนามีพัฒนาการความเชื่อมาจากแนวคิดเรื่องพญานาคในบริบทสังคมอินเดียโบราณ ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้นแล้วก็ได้ปรับเปลี่ยนแนวคิดเรื่องกำเนิดพญานาคใหม่จากเดิมที่เชื่อว่าถูกเทพเจ้าสร้างมาเป็นการเกิดโดยอำนาจของกรรม มีที่อยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่สระน้ำ แม่น้ำ และมหาสมุทร ป่าไม้และต้นไม้ จอมปลวก บ่อน้ำ ภูเขา เป็น ในด้านรูปร่างตามปกติของพญานาคจะมีหงอนรูปร่างใหญ่โต แต่หากขึ้นมาสู่โลกมนุษย์จะกลายร่างเป็นงูหรือมาณพรูปงามตามปกติพญานาคจะมีอุปนิสัยที่มีโทสะเป็นพื้นทำให้โกรธง่าย เป็นเหตุให้ต้องรักษาอารมณ์ด้วยธรรมข้อหนึ่งคือความอดทน นอกจากนั้นพญานาคยังมีมีบทบาทสำคัญก็คือการเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา และยังเป็นผู้ปฏิบัติธรรมเพื่อมุ่งหวังการได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดีกว่าด้วย
ส่วนความเชื่อเรื่องพญานาคในอุรังคธาตุนิทานเป็นความเชื่อที่ได้รับอิทธิพลของแนวคิดความเชื่อเรื่องพญานาผ่านทางอิทธิพลความเชื่อ (๑) ลัทธิบูชางู (๒) ความเชื่อเรื่องศาสนาผีแถนผีเจ้าเมืองหรือผีนาคบรรพบุรุษ (๓) ศาสนาพราหมณ์และ (๔) พระพุทธศาสนาเถรวาทนิกายลังกาวงศ์ที่ผ่านยุคสมัยต่าง ๆ ต่อมาได้รับการผสมผสานความคิดเรื่องพญานาคให้เข้ากับ (๑) พระพุทธศาสนา (๒) ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น (๓) นิทานปรัมปรา ให้หลอมรวมเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน
ความเชื่อเรื่องพญานาคในอุรังคธาตุนิทานให้คุณค่าทั้งแก่ตนเองและสังคม โดยเฉพาะคุณค่าของการสำนึกถึงรากเหง้าและบรรพบุรุษของตนของคนในชุมชนสองฝั่งโขงที่ได้สร้างวัฒนธรรมและความเชื่อพญานาคนี้ขึ้นมาและสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันนานกว่าหนึ่งพันปีได้ และถ้ากล่าวแบบง่าย ๆ ความเชื่อเรื่องพญานาคนั้นก่อให้เกิดการกินดีอยู่ดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง
ดาวน์โหลด
|