หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » นิธิยา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๔ ครั้ง
การศึกษาวิเคราะห์ทัศนคติเกี่ยวกับคำสอนที่ว่า “สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์” ในบริบทสังคมไทยปัจจุบัน
ชื่อผู้วิจัย : นิธิยา เสนีวงศ์ ณ อยุธยา ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระสุธีธรรมานุวัตร
  มนตรี สิระโรจนานันท์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : มีนาคม 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             การศึกษาวิเคราะห์ทัศนคติเกี่ยวกับคำสอนที่ว่า “สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์” ในบริบทสังคมไทยปัจจุบัน ผู้วิจัยได้ตั้งวัตถุประสงค์ไว้ ๓ ประการคือ (๑) เพื่อศึกษาที่มาของบริบท  คำสอนที่ว่า “สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์” ในสมัยพุทธกาล (๒) เพื่อศึกษาทัศนคติที่มีต่อคำสอนที่ว่า “สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์” ของนักวิชาการ ๔ ด้าน ได้แก่ ด้านสังคมวิทยา  ด้านมานุษยวิทยา ด้านจิตวิทยา และด้านพุทธศาสตร์ และ (๓) เพื่อวิเคราะห์ มุมมองที่มี ต่อคำสอนที่ว่า “สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์” ในบริบทสังคมไทยปัจจุบัน

ผลการวิจัยพบว่า พรหมจรรย์ หมายถึง ระบบการครองชีวิตตามหลักพระพุทธศาสนา การครองชีวิตโดยปราศจากเมถุน การบวชซึ่งเว้นจากเมถุน ตลอดช่วงเวลาของการบวชทั้งนี้ เพื่อจุดมุ่งหมายสูงสุดในการเข้าถึงมรรค ผล นิพพานโดยใช้ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นแนวทางในการปฏิบัติตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา  คำสอนที่ว่า สตรีเป็นมลทินของพรหมจรรย์นั้น ที่แท้จริงของภิกษุ ในการปฏิบัติพรหมจรรย์มิใช่สตรี หากแต่คือกิเลสกามที่อยู่ภายในจิตใจของบุคคลนั้นเอง ข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อการประพฤติพรหมจรรย์ให้ตั้งมั่น จึงมิได้เพียงแค่การหลีกเลี่ยงไม่ยุ่งเกี่ยวกับสตรีเท่านั้น ที่สำคัญคือการปฏิบัติจิต เพื่อให้เกิดความสำรวม  ระมัดระวังจากภายใน คือ อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่เกี่ยวกับเพศ เมื่อมากระทบอินทรีย์ ๕ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ทำให้เกิดผัสสะอันเป็นปัจจัยให้เกิดกามราคะนั่นเอง

            ด้านพระภิกษุ ควรที่จะศึกษาและปฏิบัติตามข้อกำหนดในพระวินัย ซึ่งเปรียบเสมอกำแพงป้องกันการล่วงพรหมจรรย์เพื่อเป็นการป้องกันคำครหาจากสังคม และในฐานะที่เป็น ศาสนทายาทมีหน้าที่ในการเผยแผ่คำสอนทางศาสนาไปสู่สังคมคฤหัสถ์ ควรมีท่าทีที่มีเมตตา บนพื้นฐานความปรารถนาดีต่อกันและกัน

            ด้านสตรี ควรศึกษาหาความรู้ในเรื่องศาสนา เมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับภิกษุควรจะวางตัวให้เหมาะสม การแต่งกายต้องระมัดระวังให้สุภาพเรียบร้อยเหมาะกับกาลเทศะ เพื่อป้องกันการถูกตำหนิทางสังคม ควรเชื่อมั่นในศักยภาพ และคุณค่าของความเป็นสตรีในการเป็นฆราวาสที่ดี และความสามารถในการบรรลุธรรมได้

            ด้านสังคม การตีความคำสอนในศาสนาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การวิพากษ์ วิจารณ์ใดๆ โดยเฉพาะเรื่องเพศ ควรที่จะคำนึงถึงเงื่อนไขระหว่างมนุษย์ในอดีตกับปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความยุติธรรม และถูกต้องตามหลักความเป็นจริง เป็นการช่วยลดความขัดแย้งในสังคมได้อีกมิติหนึ่ง

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕