หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » ธิติญา ริมฝาย
 
เข้าชม : ๑๙๙๗๑ ครั้ง
ศึกษาจิตที่ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม ในพระพุทธศาสนาเถรวาท
ชื่อผู้วิจัย : ธิติญา ริมฝาย ข้อมูลวันที่ : ๑๕/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(การบริหารจัดการคณะสงฆ์)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระอธิการเวียง กิตฺติวณฺโณ
  พระราเชนทร์ วิสารโท
  สายัณห์ อินนันใจ
วันสำเร็จการศึกษา : กุมภาพันธ์ 2558
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

           วิทยานิพนธ์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมาย ประเภท และลักษณะของจิตในพระพุทธศาสนาเถรวาท ศึกษาเรื่องโลกธรรม ๘ และหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง  ศึกษาหลักการ และวิธีการพัฒนาจิตไม่ให้หวั่นไหวต่อโลกธรรม และตัวอย่างการนำหลักโลกธรรม ๘ มาใช้ในการดำเนินชีวิต

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงเอกสารและเชิงคุณภาพโดยเชิงเอกสารในส่วนของความหมายของจิต หลักธรรมโลกธรรม ๘และหลักสำหรับการพัฒนาจิต วิธีการฝึกจิต ผู้วิจัยได้ศึกษาเนื้อหาตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์ และจากผลงานของผู้ทรงคุณวุฒิ และศึกษาข้อมูลในการนำเอาหลักโลกธรรม ๘ มาใช้ในการดำเนินชีวิตโดยการสังเกต สัมภาษณ์ และการสนทนากลุ่มในข้าราชการและผู้เกษียณอายุราชการ และประชาชนทั่วไป เพื่อศึกษาการดำเนินชีวิตโดยใช้หลักโลกธรรม ๘ และหลักธรรมที่เกี่ยวข้อง ที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตให้มีความสุข

การวิจัยพบว่า จิตในความหมายของพระพุทธศาสนาคือ ธรรมชาติที่รับรู้อารมณ์ หรือธรรมชาติที่ทำหน้าที่ในการได้ยิน รู้กลิ่น รู้รส รู้สึก ต่อการสัมผัสถูกต้องทางกาย และรู้สึกนึกคิดทางใจ สิ่งมีชีวิตประกอบไปด้วยกายและจิต กายคือส่วนที่เป็นรูป ส่วนจิตคือส่วนที่เป็นนาม ซึ่งไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ประเภทของจิตมี ๙ ประเภท เป็นการแบ่งโดยนัย ๙ นัย คือ ชาติ ภูมิ โสภณ โลก เหตุ ฌาน เวทนา สัมปโยค และสังขาร รวมแล้วได้ ๘๙ดวง ซึ่งการทำงานของจิตตามธรรมชาติจะเกิด-ดับสืบต่อกัน ทั้งในภวังค์จิตและวิถีจิต ภวังค์จิตคือจิตเกิด-ดับในกระแสภวังค์ ไม่ได้รับรู้โลกภายนอก วิถีจิตคือการทำงานของจิตเมื่อมีการรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายใจ การทำงานของจิตเมื่อประกอบเจตสิกนั้น มี ๑๔ กิจด้วยกัน คือปฏิสนธิกิจ ภวังคกิจ อาวัชชนกิจสวนกิจฆายนกิจ สายนกิจ ผุสสนกิจ สัมปฏิจฉนกิจ สันตีรณกิจ โวฏฐัพพนกิจ ชวนกิจ ตทาลัมพนกิจ (ตทารัมมณกิจ) และจุติกิจ

หลักการและวิธีการพัฒนาจิต ไม่ให้หวั่นไหวต่อโลกธรรมคือ การฝึกจิตไม่ให้ขุ่นมัว เศร้าหมองจากสิ่งที่มากระทบจึงจะสามารถนำพาความสุขมาให้แก่ผู้ที่ศึกษาถึงเรื่องโลกธรรม

การนำเอาหลักโลกธรรม ๘ มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต ผู้ศึกษาได้มีการสังเกตและสัมภาษณ์ผู้สูงอายุ ข้าราชการจิตอาสา และประชาชน จำนวน ๑๐ คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ตามแนวทางของโลกธรรม ๘ประกอบด้วยสอบถามความรู้เรื่องโลกธรรม ๘และการนำเอาแนวทางของโลกธรรม ๘ มาใช้ในการดำเนินชีวิต พบว่าผู้ถูกสัมภาษณ์ได้นำหลักโลกธรรม ๘ มาใช้เป็นแนวทางในการทำงาน และชีวิตประจำวัน และนอกจากนั้นได้มีการนำหลักโลกธรรม ๘ มาใช้ในการช่วยเหลือสังคมและชุมชน ทำให้เกิดความช่วยเหลือเกื้อกูลกันโดยไม่หวังสิ่งตอบแทน ส่งผลทำให้เกิดสังคมที่น่าอยู่และเกิดสันติสุข

การศึกษาเรื่องโลกธรรม ๘คือ ธรรมดาของโลก  หรือความเป็นไปตามคติธรรมซึ่งหมุนเวียนมาหาสัตว์โลกและสัตว์โลกก็หมุนเวียนตามมันไป มี ๒ ส่วน คือ ส่วนที่น่าปรารถนา คือ อิฏฐารมณ์ ประกอบด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ และสุข สำหรับส่วนที่ไม่น่าปรารถนา คือ อนิฏฐารมณ์ ประกอบด้วย เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา และทุกข์

โลกธรรมเหล่านี้ย่อมเกิดแก่ปุถุชนที่มิได้เรียนรู้ และผู้ที่ได้เรียนรู้ต่างกัน ในผู้ที่เรียนรู้ย่อมเข้าใจในความเป็นจริง ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นล้วนไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ไม่หลงใหลมัวเมาตามอิฏฐารมณ์ และไม่ขุ่นมัวหม่นหมองไปกับอนิฏฐารมณ์ ทำให้เกิดสติและดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕