หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระสำลี รกฺขิตธมฺโม (พรมโสภา)
 
เข้าชม : ๑๙๙๖๗ ครั้ง
ศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในผญาอีสาน
ชื่อผู้วิจัย : พระสำลี รกฺขิตธมฺโม (พรมโสภา) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พระครูสมุห์เฉวียน กตปุญฺโญ
  บุญเลิศ ราโชติ
  -
วันสำเร็จการศึกษา : ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๕๙
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

             วิทยานิพนธ์นี้เป็นการศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในผญาอีสาน มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ ๑) เพื่อศึกษาผญาอีสาน ๒) เพื่อศึกษาหลักพุทธธรรมที่ปรากฏในผญาอีสาน และ ๓) เพื่อศึกษาวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในผญาอีสาน โดยการใช้วิธีศึกษาวิจัยจากเอกสาร

             ผลการวิจัยพบว่า

             ผญาอีสาน จัดเป็นคำพูดที่เป็นสุภาษิต โดยใช้ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นอีสาน มีความไพเราะคล้องจ้องกันในเชิงสัมผัส ใช้สำหรับอบรมสั่งสอน ตักเตือน เป็นคติพจน์ ข้อคิด ข้อเตือนใจแก่ผู้ฟังตามความเหมาะสมของคนในสังคม เพื่อให้ยึดถือ อบรมจิตใจ ประพฤติในทางที่ดีงาม มีเนื้อหาสาระที่สอดแทรกหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ตั้งแต่เรื่องการกินอยู่ที่เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิตจนกระทั่งถึงเรื่องศีลธรรม อันเป็นวิธีการถ่ายทอดภูมิปัญญาของนักปราชญ์อีสานสู่ชนรุ่นหลัง ๆ สืบต่อกันมา ซึ่งมีคุณค่าในฐานะที่เป็นสื่อในการถ่ายทอดความรู้สึก การอบรมสั่งสอน การโน้มน้าวจิตใจ เป็นมรดกที่มีคุณค่าทางภาษา เป็นภาพสะท้อนของสภาพทางสังคม และให้ความบันเทิงใจ

             หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในผญาอีสาน มีความสามัคคี ความปรองดอง รักใคร่ให้เกียรติกัน สังคหวัตถุ การยึดเหนี่ยวจิตใจและสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน ด้วยการแบ่งปัน พูดจาไพเราะอ่อนหวาน ประพฤติในสิ่งที่เป็นประโยชน์ ประพฤติตนเหมาะสมตามฐานะเสมอต้นเสมอปลาย เบญจศีลเบญจ-ธรรม เว้นจากการจากการฆ่าเบียดเบียนสัตว์ มีเมตตากรุณา เลี้ยงชีพสุจริตไม่ลักขโมย ไม่ตกอยู่ในอำนาจกิเลสกาม มีสติสัมปชัญญะเป็นที่พึ่งพาในการปฏิบัติตน และอริยมรรค การดำเนินชีวิตตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา หรือทางสายกลาง ไม่เคร่งหรือหย่อนเกินไป รู้เท่าทันกับความเป็นจริง

          ผลการวิเคราะห์หลักพุทธธรรมที่ปรากฏในผญาอีสาน ทำให้ทราบว่านักปราชญ์อีสานได้นำหลักพุทธธรรมมาร้อยกรองเป็นบทผญาที่แฝงไปด้วยข้อแนะนำ คำสั่งสอน ชี้แนะแนวทางที่เป็นข้อฝึกหัด ข้อที่ควรปฏิบัติเบื้องต้นในชีวิต เพื่อควบคุมความประพฤติ และเป็นการปฏิบัติเพื่อฝึกฝนตนเองให้เกิดความเจริญงอกงามยิ่งขึ้น รวมทั้งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของสมาชิกในสังคม ทั้งที่เป็นผู้นำและผู้ตามในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ครอบครัวจนกระทั่งถึงระดับที่สูงขึ้นไป ทำให้คนในสังคมมีความสามัคคีปรองดองกัน มีความเคารพ รักใคร่นับถือกัน ไม่แตกแยกวิวาทบาดหมางกัน มีความสงบสุข ยึดมั่นในคุณความดีทั้งทางกาย วาจา ใจ เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต

 

ดาวน์โหลด

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕