บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ศึกษาเรื่อง การใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุชุมชนสุขสวัสดิ์ จังหวัดลำปาง มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ (๑) ศึกษาบริบทชุมชนและสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุชุมชนสุขสวัสดิ์จังหวัดลำปาง (๒) ศึกษาหลักการดำเนินชีวิตในพระพุทธศาสนาของผู้สูงอายุชุมชนสุขสวัสดิ์จังหวัดลำปาง และ (๓) ศึกษาการใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุชุมชนสุขสวัสดิ์จังหวัดลำปาง การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยศึกษาข้อมูลจากเอกสาร เอกสาร (Documentary Research) และวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) ข้อมูลภาคสนามเพื่อประกอบการศึกษาวิจัย ผลการศึกษา พบว่า
บริบทชุมชนและสภาพปัญหาที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุชุมชนสุขสวัสดิ์จังหวัดลำปาง ชุมชนสุขสวัสดิ์ ตำบลพระบาท อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง มีผู้สูงอายุ (อายุ ๖๐ ปี บริบูรณ์ขึ้นไป) รวมทั้งสิ้น ๓๔๕ คน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ผู้สูงอายุในชุมชนสุขสวัสดิ์ จังหวัดลำปาง จะประสบปัญหาด้านความเสื่อมทางด้านร่างกาย เกิดโรคภัยไข้เจ็บ สุขภาพไม่แข็งแรง จึงส่งผลต่อด้านจิตใจ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านอารมณ์ เกิดความวิตกกังวล ว้าเหว่ ขาดความเชื่อมั่นในการอยู่ร่วมในสังคม และการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ประกอบกับเกิดการสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก และสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้สูงอายุบางท่านขาดความมั่นคงทางอารมณ์ จิตใจ และมีเริ่มมีปัญหาด้านเศรษฐกิจเนื่องจากขาดรายได้
หลักการดำเนินชีวิตในพระพุทธศาสนา ของผู้สูงอายุชุมชนสุขสวัสดิ์จังหวัดลำปาง ประกอบด้วย ด้านกายภาวนา ด้านจิตภาวนา ด้านสังคมการอยู่ร่วมกัน ด้านเศรษฐกิจและรายได้ และ ด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน ด้วยความไม่ประมาท ด้านกายภาวนา ผู้สูงอายุจะมีการเตรียมใจไว้ล่วงหน้า ยอมรับความจริงตามหลักไตรลักษณ์ว่า ทุกชีวิตจะต้องพบกับความตายอย่างแน่นอน เป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ มีการออกกำลังกายสม่ำเสมอให้เหมาะสมกับวัย มีงานอดิเรกทำหรือการช่วยเหลืองานส่วนรวมโดยทำให้เป็นกิจวัตรเพื่อสุขภาพกายที่สมบูรณ์แข็งแรง รับประทานที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และให้ถูกหลักอนามัย
การใช้หลักพุทธธรรมในการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุชุมชนสุขสวัสดิ์จังหวัดลำปาง คือ ด้านกายภาวนา ส่วนใหญ่มีปัญหาด้านโรคประจำตัว เมื่อเกิดปัญหาทางด้านร่างกาย จะใช้หลักไตรลักษณ์ อริยสัจ ๔ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ด้านจิตภาวนา ส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตที่ดี ทางด้านจิตใจจะหลักเบญจศีล เบญจธรรม หลักพรหมวิหาร ๔ มาปฏิบัติ ด้านสังคมการอยู่ร่วมกัน ส่วนใหญ่ครอบครัวอบอุ่นดี ดูแลเอาใจใส่คนในครอบครัว มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชน เมื่อเกิดปัญหา การอยู่ร่วมกัน จะยึดสังคหวัตถุ ๔ หลักบุญบาป หลักกรรม มาประพฤติปฏิบัติในการอยู่ร่วมกับสังคมและครอบครัว ด้านเศรษฐกิจและรายได้ ส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ทำให้เศรษฐกิจในครอบครัวพอมีพอกิน เมื่อผู้สูงอายุเกิดปัญหาด้านเศรษฐกิจและรายได้ ก็จะใช้หลักอิทธิบาท ๔ อบายมุข ๖ มาประพฤติปฏิบัติ และด้านการดำเนินชีวิตประจำวัน มีความไม่ประมาท รู้จักใช้จ่ายอย่างประหยัด อยู่อย่างพอเพียง ระมัดระวังร่างกายและจิตใจ เมื่อเกิดปัญหาการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็จะยึดหลัก ไตรลักษณ์ หลักอริยสัจ ๔ โลกธรรม ๘ มาใช้เป็นสิ่งชี้นำในการดำเนินชีวิต
ดาวน์โหลด
|