งานวิจัยนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาหลักธรรมที่เกี่ยวข้องกับความเพียร ศึกษาความเพียรของพระโสณาเถรีที่ปรากฏในคัมภีร์พระพุทธศาสนา และศึกษาการประยุกต์หลักความเพียรมาใช้ในสังคมปัจจุบัน
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) ซึ่งเน้นการวิจัยทางเอกสาร (Documentary Research) ใช้ข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Source) ได้แก่ พระไตรปิฎก ส่วนข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Source) ได้แก่ พุทธธรรม รวมทั้งเอกสารหรือตำราทางวิชาการอื่น ๆ และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
ผลการศึกษาวิจัยพบว่า หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่บริษัท ๔ ซึ่งจัดเป็นหมวดธรรมจำนวนหลายหมวดธรรมนั้น จะมีความเพียรปรากฏทุกหมวด เช่น อิทธิบาท ๔ พละ ๕ อินทรีย์ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ ความเพียรจะต้องมี องค์ธรรมอื่นมาปฏิบัติร่วมกัน เป็นธรรมที่สนับสนุนกันและกัน ผู้ปฏิบัติจึงสามารถ
บรรลุธรรมได้ ความเพียรของพระโสณาเถรี เป็นกุศลธรรมที่ได้สั่งสมมาจากอดีตชาติด้วยความปรารถนาตำแหน่งผู้เป็นเลิศด้านปรารภความเพียร ในปัจจุบันชาติ แม้ท่านเป็นภิกษุณีที่บวชเมื่อแก่ แต่ท่านมีความเพียรเจริญกายานุปัสนาสติปัฏฐานในทุกอิริยาบถ จึงบรรลุอรหัตผลในขณะต้มน้ำ พระพุทธเจ้าทรงยกย่องว่าเป็นยอดของภิกษุณีทั้งหลาย ผู้ปรารภความเพียรการประยุกต์หลักความเพียรมาใช้ในสังคมปัจจุบัน เป็นการจำแนกความเพียร
แบบโลกียะ ด้วยการเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้านในการเลี้ยงชีพ การประกอบการงาน การแสวงหาโภคทรัพย์ เพื่อประโยชน์สุขในการครองเรือน ส่วนความเพียรแบบโลกุตตระ เป็นความเพียรแบบบรรพชิต ปฏิบัติเพื่อละอกุศลธรรม เจริญในกุศลธรรม หรือ การเจริญสติปัฏฐานเพื่อบรรลุเป้าหมาย คือ มรรค ผล นิพพาน
Download : 255152.pdf |