หน้าหลัก ค้นหา ติดต่อ สมุดโทรศัพท์ การเรียน/การสอน เหตุการณ์ แผนที่เว็บ Thai/Eng
MCU

หน้าหลัก » พระมนตรี ติสฺสโร (คำลือ)
 
เข้าชม : ๒๑๐๔๕ ครั้ง
ศึกษาแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักศีล ๕ ของชุมชนวัดบ้านน้อยอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
ชื่อผู้วิจัย : พระมนตรี ติสฺสโร (คำลือ) ข้อมูลวันที่ : ๑๔/๐๓/๒๐๑๘
ปริญญา : พุทธศาสตรมหาบัณฑิต(พระพุทธศาสนา)
คณะกรรมการควบคุมวิทยานิพนธ์ :
  พูนชัย ปันธิยะ
  พระครูสิริปริยัตยานุศาสก์
  -
วันสำเร็จการศึกษา : 2560
 
บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

วิทยานิพนธ์ เรื่อง “ศึกษาแนวทางการดำเนินชีวิตตามหลักศีล ๕ ของชุมชนวัดบ้านน้อย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่” มีวัตถุประสงค์ ๓ ประกร คือ  ๑) เพื่อศึกษาแนวคิดและการดำเนินชีวิตตามหลักศีล ๕  ๒) เพื่อศึกษาบริบทการดำเนินชีวิตของชุมชนวัดบ้านน้อย อำเภอ         สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ และ ๓) เพื่อศึกษาแนวทางการส่งเสริมการดำเนินชีวิตตามหลักศีล ๕ ของชุมชนวัดบ้านน้อย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่

ผลจากการวิจัยนี้พบว่า ศีล ๕ เป็นหลักมนุษยธรรม เป็นข้อปฏิบัติให้ถึงความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ การไม่ฆ่าสัตว์ การไม่ลักทรัพย์ การไม่ประพฤติผิดในกาม การไม่พูดเท็จ และการไม่ดื่มสุราเมรัยศีล เป็นที่ตั้งแห่งกุศลธรรมเป็นลักษณะ มีความปรกติทางกายวาจาเป็นที่ตั้ง โดยมีองค์ประกอบของศีล ๕ แต่ละข้อ คือ เจตนาทางกาย วาจา และใจ ให้พ้นจากความชั่วทั้งปวง ย่อมมีความสงบสันติสุขในชีวิตปัจจุบันและอนาคต ในทางตรงกันข้าม โทษของการละเมิดศีล เป็นเหตุให้ประมาท เป็นบ่อเกิดแห่งภัยเวรโดยประการต่างๆ ย่อมประสบทุกข์ทั้งในปัจจุบันและสัมปรายภพ

วัดบ้านน้อย อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นชุมชนหนึ่งที่ได้ดำเนินการตามโครงการหมู่บ้านรักษาศีล ๕ มีความสุขในการดำเนินชีวิต สำหรับสภาพทั่วไปของชุมชนวัดบ้านน้อยนั้นมีสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดจากมลพิษ มีความร่มเย็นด้วยต้นไม้ มีลำน้ำแม่ออนไหลผ่าน มีนาข้าวเขียวชอุ่ม นอกจากนี้ ชุมชนวัดบ้านน้อยยังได้รับการสนับสนุนการจัดภูมิทัศน์ให้ร่มรื่นสวยงาม และการกำจัดขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล จากเทศบาลตำบลสันกำแพงและองค์การบริหารส่วนตำบลสันกำแพง และมีประเพณีต่างๆ คือ การแห่ไม้ค้ำสรี การสรงน้ำพระธาตุ การทานบ้าน งานกฐิน งานผ้าป่า การตีกลองหลวง ประเพณีทานข้าวใหม่ งาน ๑๒ เป็ง ทำบุญอุทิศหาคนตาย และประเพณียี่เป็ง

ผลการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัญหาแนวทางการแก้ไขและแนวทางส่งเสริมการนำศีล ๕ ไปใช้ในชีวิตประจำวันของชุมชนวัดบ้านน้อย พบว่า ปัญหาการนำศีลข้อ ๑ ไปใช้ในชีวิตประจำวันคือชุมชนยังไม่มีทางเลือกในการเลี้ยงชีพจึงเกิดการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร เป็นวิถีชีวิตของชุมชน แนวทางการแก้ไข คือ การโน้มน้าวจิตใจให้ฆ่าสัตว์ลดลงหรือซื้อจากตลาดแทน ข้อ ๒ คือ คนที่ลักขโมยส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ขาดความอบอุ่น ครอบครัวแตกแยก การหยิบฉวยโดยไม่บอกก่อน เพื่อใช้หนี้การพนัน ซื้อยาเสพติด เป็นต้น แนวทางการแก้ไข คือ ครอบครัวต้องดูแลเอาใจใส่ ให้ใช้ธรรมะขัดเกลาจิตใจ รณรงค์ให้เลิกเล่นการพนัน และยาเสพติด  ข้อ ๓ คือ การขาดจิตสำนึกและความไม่รู้จักพอ แนวทางการแก้ไข คือ ปลูกจิตสำนึก ให้รู้จักพอ และครอบครัวควรให้คำชี้แนะบุตรหลาน  ข้อ ๔ คือ มีการพูดเท็จเพื่อเอาตัวรอด พูดนินทา แนวทางการแก้ไข คือ คิดก่อนพูด และควรพูดในทางสร้างสรรค์  ข้อ ๕  คือ หาดื่มได้ง่าย มีในงานต่างๆ ทำให้ขาดสติ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุ แนวทางการแก้ไข คือ รณรงค์ลดหรือห้ามการดื่มสุราในงานต่างๆ และให้ความรู้เรื่องพิษภัยของการดื่มสุรา  สำหรับแนวทางส่งเสริมการนำศีล ๕ ไปใช้นั้น ควรมีการมอบรางวัลหรือมอบเกียรติบัตรยกย่องชื่นชมผู้ประพฤติปฏิบัติตามหลักศีล ๕ โดยมีผู้นำชุมชนและผู้ใหญ่เป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่เยาวชน ควรจัดให้มีกิจกรรมเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างบ้าน ชุมชน วัดให้บ่อยขึ้น มีการเชิญผู้ที่มีความรู้ในชุมชนไปถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนหรือประชาชน มีกิจกรรมในเชิงปฏิบัติธรรม ฟังธรรมเทศนา ประชาชนทุกกลุ่มวัยสามารถนำหลักศีล ๕ ไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง อย่างเป็นรูปธรรม จนเกิดความรัก เข้าใจ ปรองดอง และสามัคคีกัน จากครอบครัวสู่ชุมชน

ดาวน์โหลด

 

 
 
สงวนลิขสิทธ์โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธ์ พ.ศ. ๒๕๓๗ 
พัฒนาและดูแลโดย : webmaster@mcu.ac.th 
ปรับปรุงครั้งล่าสุดวันพฤหัสบดี ที่ ๙ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๕