บทคัดย่อ
งานวิจัยหัวข้อ “ศึกษาความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ของผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติ” มีวัตถุประสงค์คือ (๑) เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ในคัมภีร์พระพุทธศาสนาเถรวาท (๒) เพื่อศึกษาการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ของสำนักปฏิบัติธรรมนานาชาติ วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) และ (๓) เพื่อศึกษาความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ของผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติ งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยมีทั้งการวิจัยเอกสารและการวิจัยภาคสนาม ใช้เครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม ๒ ประเภทคือ การสัมภาษณ์ และ การสังเกตแบบมีส่วนร่วม
ผลการวิจัยสรุปได้ว่าวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ คือ หนทางปฏิบัติเพื่อการชำระจิตให้บริสุทธิ์หนทางหนึ่งในพระพุทธศาสนา เป็นหนทางที่มุ่งเน้นการเกิดปัญญารู้แจ้งเห็นสภาวะต่างๆตามความเป็นจริง โดยการตั้งสติกำหนดพิจารณาเห็นสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นเท่าทันตามความเป็นจริง แบ่งเป็น ๔ หมวดคือ (๑) กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตามระลึกรู้กาย) มี ๖ หมวดย่อยคือ หมวดอานาปานะ หมวดอิริยาบถ หมวดสัมปชัญญะ หมวดมนสิการธาตุ และหมวดนวสิวถิกะ (๒) เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตามระลึกรู้เวทนา) (๓) จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตามระลึกรู้จิต) และ (๔) ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน (การตามระลึกรู้ธรรม) มี ๕ หมวดย่อยคือ หมวดนิวรณ์ หมวดขันธ์ หมวดอายตนะ หมวดโพชฌงค์ และหมวดสัจจะ ผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ จะได้รับประโยชน์ในปัจจุบันคือ ร่างกายและจิตใจแข็งแรงมากขึ้น ประโยชน์ภายภาคหน้าคือ การไปสู่ภพภูมิที่ดีขึ้น และประโยชน์สูงสุดคือ การเข้าถึงพระนิพพานอันเป็นภาวะหลุดพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวง
วัดร่ำเปิง (ตโปทาราม) มีการอบรมการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมชาวไทยและชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่องกันตลอดปี โดยยึดคำสอนจากพระไตรปิฎกเป็นหลัก และปฏิบัติในแนวทางการกำหนดพองหนอ – ยุบหนอ มีระเบียบการเข้าปฏิบัติและวิธีการฝึกอบรมสำหรับชาวไทยและชาวต่างชาติเหมือนกันทุกประการ ผู้ปฏิบัติทุกท่านจะเริ่มฝึกจากการกราบสติปัฏฐาน คือการกำหนดรู้อย่างละเอียดในการกราบพระรัตนตรัย ๓ ครั้ง จากนั้นจึงเดินจงกรม คือการกำหนดรู้ในอาการก้าวเดินอย่างละเอียด แบ่งเป็น ๖ ระยะ โดยเริ่มจากการเดินจงกรม ๑ ระยะ คือ การกำหนด “ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ”สลับกับการนั่งสมาธิกำหนดอาการ “พองหนอ ยุบหนอ” นอกจากนี้ยังให้กำหนดอิริยาบถย่อยในช่วงระหว่างวันและกำหนดรู้อาการต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งทางกายและทางใจอย่างต่อเนื่อง โดยพระวิปัสสนาจารย์จะเป็นผู้พิจารณาเพิ่มลำดับขั้นในการปฏิบัติให้แก่ผู้ปฏิบัติธรรมแต่ละท่านเป็นรายบุคคลในช่วงสอบอารมณ์ เพื่อพัฒนากำลังสติให้แก่กล้ามากขึ้น สามารถเห็นสภาวะต่างๆตามความเป็นจริงได้ชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดปัญญาเห็นพระไตรลักษณ์ในที่สุด
ผู้ปฏิบัติธรรมชาวต่างชาติมีความรู้และความเข้าใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ในระดับดี คือมีคะแนนเฉลี่ยเรื่องความรู้และความเข้าใจในวิธีการปฏิบัติ ร้อยละ ๗๔ ของคะแนนเต็ม และมีคะแนนเฉลี่ยเรื่องความรู้และความเข้าใจในประโยชน์ของการปฏิบัติ ร้อยละ ๗๑ ของคะแนนเต็ม คำถามที่กลุ่มตัวอย่างมีความรู้และความเข้าใจมากคือคำถามเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติ ประโยชน์ในปัจจุบัน และประโยชน์ในภายภาคหน้าของการปฏิบัติ ส่วนคำถามที่กลุ่มตัวอย่างมีความรู้และความเข้าใจน้อย คือคำถามเกี่ยวกับคำนิยามของการปฏิบัติในแต่ละรูปแบบ และประโยชน์สูงสุดของการปฏิบัติ พบว่าผลการประเมินความรู้และความเข้าใจของกลุ่มตัวอย่างจากการสัมภาษณ์ สอดคล้องกับผลบันทึกจากการสังเกตแบบมีส่วนร่วมซึ่งแสดงผลว่ากลุ่มตัวอย่างมีความตั้งใจในการปฏิบัติ เคารพกฎระเบียบของทางวัด และปฏิบัติได้ถูกต้องตรงตามที่ได้รับการอบรมมา
ดาวน์โหลด
|