บทคัดย่อ
วิทยานิพนธ์นี้ มีวัตถุประสงค์ ๓ ข้อ คือ (๑) เพื่อศึกษากระบวนการสอนพุทธธรรมในพระไตรปิฎก (๒) เพื่อศึกษาการนำกระบวนการสอนในพระไตรปิฎกมาสู่การปฏิบัติ ตามวิถีทางของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) (๓) เพื่อศึกษาความสอดคล้องระหว่างกระบวนการสอนในพระไตรปิฎกกับกระบวนการสอนตามวิถีทางของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท)
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยผู้วิจัยได้ค้นคว้าข้อมูลจากเอกสาร มุ่งศึกษากระบวนการสอนพุทธธรรมในพระไตรปิฎก โดยรวบรวมข้อมูลจากพระไตรปิฎก อรรถกถา เอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งศึกษาการนำกระบวนการสอนในพระไตรปิฎกมาสู่การปฏิบัติ ตามวิถีทางของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ได้แก่ หลักการสอน ลีลาการสอน วิธีการสอน กลวิธีและอุบายประกอบการสอน คุณสมบัติผู้สอนและผู้เรียน
ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการสอนพุทธธรรมในพระไตรปิฎก เน้นคุณสมบัติภายในของผู้สอนคือความเป็นกัลยาณมิตรและสัปปุริสธรรม ๗ โดยผู้สอนพิจารณาจากการรับรู้ลักษณะภายในของผู้เรียนให้ตรงกับจริต ความถนัด ความสนใจ และระดับสติปัญญา โดยใช้หลักโยนิโสมนนิการ กำหนดท่าที และจุดมุ่งหมาย เพื่อให้ผู้เรียนเปิดใจยอมรับการสอนอย่างไม่มีอคติและมีสติสัมปชัญญะอย่างจดจ่อและต่อเนื่อง
ความสอดคล้องระหว่างกระบวนการสอนในพระไตรปิฎกกับกระบวนการสอนตามวิถีทางของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ทำให้เกิดกระบวนการสอนที่สำคัญ ๔ ประการ ในการเผยแผ่พุทธศาสนาสู่ชาวไทยและต่างชาติอย่างรวดเร็ว ประกอบด้วย (๑) การจัดกระบวนการสอนที่เหมาะสมโดยให้ลูกศิษย์เรียนรู้ด้วยตนเอง รูปแบบการสอนนี้ตรงกับจริตของชาวตะวันตก คือเป็นคนมีเหตุมีผล (๒) การสื่อภาษา เน้นการใช้ภาษาใจ โดยให้เรียนรู้สภาวะทางอารมณ์ที่มากระทบใจในปัจจุบันขณะ แล้วบรรยายความหมาย หยิบยกออกมาจากใจตน ส่งให้ถึงใจผู้ฟังด้วยความรักความเมตตา (๓) การเอาตัวเองเป็นแบบอย่างตามที่สอน ซึ่งเป็นแรงดึงดูดและแรงกระตุ้นให้ลูกศิษย์น้อมเอาคำสอนไปปฏิบัติ และ (๔) การสร้างผู้นำ ด้วยกระบวนการสอนเอื้อให้ลูกศิษย์เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณให้กับตนเองและเป็นที่พึ่งให้กับผู้ที่อื่นได้
จุดเด่นของกระบวนการสอนตามวิถีทางของพระโพธิญาณเถร (ชา สุภทฺโท) ได้แก่ การให้ความสำคัญต่อการรักษาศีล คือ พระวินัยและวัตรปฏิบัติ ซึ่งเอื้อให้เกิดความสามัคคี ความสงบเรียบร้อยและความงดงาม รวมทั้งส่งเสริมการปฏิบัติกรรมฐานแบบอานาปานสติในทุกลมหายใจเข้าออก พัฒนาสมาธิให้ก้าวไปสู่การเจริญปัญญา คำสอนที่ท่านให้ความสำคัญ คือ ความไม่แน่ (กฎไตรลักษณ์) ความพอดี (ทางสายกลาง) ความอดทน (ขันติ) และความกตัญญูรู้คุณ
ดาวน์โหลด
|